supatkul Avatar

สร้างโดย : สุพัฒน์กุล ภัคโชค
สร้างเมื่อ เสาร์, 24/01/2552 – 11:10

แรงจูงใจของการบริจาคเนื้อหาเพื่อการศึกษา : กรณีการใช้ครีเอทีฟคอมมอนส์ของ ThaiGoodView.com


ขอขอบคุณคำแนะนำ ในการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์  จากบล็อก guopai http://guopai.wordpress.com 
โดย Chitpong Kittinaradorn

1

     เมื่อไม่นานมานี้ เว็บ ThaiGoodView.com ซึ่งเป็นเว็บเผยแพร่สื่อการเรียนการสอนระดับประถม-มัธยมได้ตกลงเผยแพร่เนื้อหากว่า 1 ล้านหน้าภายใต้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ครับ

     ผมเองรู้จักกับครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล ผู้ก่อตั้งและดำเนินการเว็บ thaigoodview เมื่อตอนทำงานกับแผนงาน ICT ประมาณ 2 ปีที่แล้ว โดยตอนนั้นแผนงาน ICT เข้าไปช่วยสนับสนุน thaigoodview ในการพัฒนาระบบและหน้าเว็บใหม่ให้มีประสิทธิภาพ ใช้งานง่าย และรองรับจำนวนผู้ใช้งานที่มีมากถึงวันละ 200,000 กว่าครั้ง

     ครูพูนศักดิ์เป็นหนึ่งในครู “รุ่นเก่า” จำนวนมากที่อยากทำทุกวิถีทางให้เด็กไทยเข้าถึงสื่อการศึกษาอย่างไม่มีอุปสรรค แต่สิ่งที่ทำให้ครูพูนศักดิ์ประสบความสำเร็จในภารกิจศักดิ์สิทธิ์นี้ คือการมีใจ “รุ่นใหม่” ที่คิดใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเป็นช่องทางการเผยแพร่เนื้อหา และการรู้จักนำ “แรงจูงใจ” ของครูมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

2

     Adam Smith บิดาของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม กล่าวว่าสังคมจะได้รับประโยชน์มากที่สุดเมื่อคนและแต่คนในสังคมทำตามสิ่งที่ตนคิดว่าดีที่สุดต่อตนเอง ภายใต้เงื่อนไขที่เท่าเทียม เป็นธรรม และมีคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ตลาดมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม thaigoodview ก็เหมือนตลาดวิชาที่แรงจูงใจของ “ผู้ขาย” หรือครูผู้ผลิตเนื้อหาวิชาและนำมาเผยแพร่ คือการได้รับความพึงพอใจจากการได้เห็นวิชาของตนเผยแพร่เพื่อลูกศิษย์ทั้งที่เห็นหน้าและไม่เห็นหน้า และการได้รับประโยชน์ส่วนตัว นั่นคือการได้สร้าง เผยแพร่ และรวบรวมผลงานเพื่อโอกาสในการเลื่อนขั้นและความก้าวหน้าทั้งทางอาชีพและสังคม ฝ่ายผู้บริโภคก็คือนักเรียน ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลโดยแทบไม่มีต้นทุนใด ๆ

     thaigoodview และพื้นที่ออนไลน์อื่นอีกนับไม่ถ้วน คือ ยูโทเปียของทุนนิยมที่ควรจะเป็น

     แต่การดำเนินงานของ thaigoodview ก็ใช่ว่าจะไร้อุปสรรค แรงจูงใจของครูที่ต้องการสะสมผลงานเลื่อนตำแหน่ง ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ครูจะต้องสามารถเคลมความเป็นเจ้าของบทเรียนที่เผยแพร่ได้ และเครื่องมือเดียวที่ครูและสังคมไทยรู้จักและยอมรับกัน ก็คือการสงวนลิขสิทธิ์ทุกประการ (Full Copyright)

     อย่างไรก็ตาม เมื่อเนื้อหาใน thaigoodview (และเว็บอื่น ๆ) ถูกสงวนสิทธิ์ตามมาตรฐาน แปลว่าในทางเทคนิค ผู้ชมผลงานไม่สามารถนำผลงานนั้นไปทำซ้ำ ส่งต่อ นำเสนอ หรือดัดแปลงต่อยอดได้โดยไม่ได้รับอนุญาต เว้นแต่จะทำเพื่อการศึกษาที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นไปเพื่อแสวงหาผลกำไร ตามที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ปี 2537 กำหนดไว้ สภาวะการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดความอีหลักอีเหลื่อของผู้ใช้ ทั้งนักเรียน ครู นักพัฒนาบทเรียน ในการนำเนื้อหาที่เผยแพร่และสามารถเข้าถึงอย่างเสรีใน thaigoodview ไปใช้อย่างเสรี ครูที่พัฒนาหลักสูตรต่างต้องคิดบทเรียนขึ้นมาใหม่แทนที่จะนำเนื้อหาในบทเรียนเก่ามาต่อยอดทำให้ลึกและกว้างขึ้น หรือการนำตัวอย่างโจทย์มาประยุกต์ใช้ อันที่จริง ครูบางส่วนก็ทำเช่นนั้นอยู่แล้ว แต่ต่างไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะไปละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้สร้างงานหรือไม่ จะโดนจับได้หรือไม่ และอื่น ๆ และอื่น ๆ…

     ความอีหลักอีเหลื่อของการใช้ระบบสงวนลิขสิทธิ์แบบมาตรฐานกับการเผยแพร่เนื้อหาออนไลน์นี่เอง ทำให้ครูบางส่วนลังเลที่จะเผยแพร่บทเรียนบนอินเทอร์เน็ต และครู / นักพัฒนาหลักสูตรอีกบางส่วน ลังเลที่จะนำเนื้อหาที่เผยแพร่มาดัดแปลงต่อยอด ทำให้สังคมและการศึกษาไทยเสียโอกาสมหาศาลที่จะได้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีคุณภาพ และราคาถูก

3

     หลังจากผมได้รับเลือกให้เป็นผู้ประสานงานครีเอทีฟคอมมอนส์ประเทศไทยไม่นาน ก็มีโอกาสได้คุยกับครูพูนศักดิ์ ถึงประเด็นปัญหานี้ ผมจึงถือโอกาสเสนอว่าทางออกต่อปัญหา คือการใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์กับงานทุกชิ้นที่เผยแพร่ใน thaigoodview

      และเหมือนที่ Archimedes ค้นพบว่ามวลของร่างกายจะไปแทนมวลของน้ำในอ่าง ทั้งอาจารย์พูนศักดิ์และผมเกือบจะอุทานว่า Eureka เพราะเห็นว่าครีเอทีฟคอมมอนส์ น่าจะช่วยแก้ปัญหาที่หนักอกมาตลอดได้จริง

      สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ (Creative Commons License) เป็นเอกสารกำหนดสิทธิ์ที่เจ้าของงานนำไปใช้กับงานของตนเองได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เมื่อใช้ครีเอทีฟคอมมอนส์ เจ้าของงานจะสามารถมอบสิทธิ์บางอย่างให้กับสาธารณะได้ เช่น สิทธิ์ในการทำซ้ำ ส่งต่อ จัดแสดง ดัดแปลง โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ในขณะเดียวกันก็เลือกสงวนสิทธิ์บางประการ (Some Rights Reserved) เช่น สิทธิ์ในการได้รับการอ้างอิงว่าเป็นเจ้าของงานต้นฉบับ (Attribution – BY) การห้ามดัดแปลงผลงาน (No Derivative – ND) การห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า (Noncommercial – NC) และการกำหนดให้ต้องเผยแพร่ผลงานต่อไปภายใต้สัญญาอนุญาตฉบับเดียวกันกับงานต้นฉบับเท่านั้น (Share Alike – SA) เพื่อทำให้มั่นใจว่าผลงานจะถูกเผยแพร่ต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ถูกใครสงวนสิทธิ์ทุกประการต่อผลงานที่ดัดแปลงแล้ว (ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์อนุญาตให้ทำเช่นนั้น)

      ยกตัวอย่างเช่น สัญญาอนุญาตที่ thaigoodview ใช้ (และที่เราแนะนำให้หน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นมาตรฐาน) คือ CC BY-NC-SA ซึ่งก็คือ 1) ต้องระบุที่มาของาน 2) ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า และ 3) ต้องเผยแพร่ผลงานดัดแปลงโดยใช้สัญญาเดียวกันกับสัญญาต้นฉบับเท่านั้น ส่วนหน่วยงานอื่นหรือเจ้าของผลงานก็สามารถเลือกสัญญาอนุญาตที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง เช่น ถ้าไม่ต้องการให้ดัดแปลงผลงาน และห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า ก็เลือก CC BY-NC-ND เป็นต้น

      เมื่อ thaigoodview ใช้สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์แล้ว ครูที่เป็นผู้เผยแพร่เนื้อหาก็จะมั่นใจได้ว่าตัวเองจะได้เครดิตและยังคงเป็นเจ้าของผลงานของตนอยู่ แต่ก็รู้ว่าผลงานนั้นจะถูกเผยแพร่และสร้างประโยชน์ให้กับเด็กจำนวนมากทั้งตอนนี้และในอนาคต ส่วนผู้ใช้ผลงาน โดยเฉพาะครู นักพัฒนาหลักสูตร ก็จะมั่นใจได้ว่าสามารถนำผลงานสื่อการเรียนการสอนที่เผยแพร่นั้นมาใช้ต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในห้องเรียน (ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชนซึ่ง “แสวงหาผลกำไร”) การทำข้อสอบ การทำหลักสูตร
อันที่จริง การรับครีเอทีฟคอมมอนส์ไปใช้อย่างรวดเร็วของ thaigoodview ทำให้ผมรู้สึกว่า อันที่จริง สังคมไทยน่าจะเป็นแดนสวรรค์ของครีเอทีฟคอมมอนส์ และมีโอกาสที่ข้อมูล ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และถูกเผยแพร่แลกเปลี่ยนกันได้อย่างเข้มข้นจนทำให้เกิดภูมิปัญญาอย่างยั่งยืน เพราะพื้นฐานของสังคมไทยเต็มไปด้วยการให้ ทั้งการให้อย่างบริสุทธิ์ใจ หรือการทำบุญ ทำความดี (โดยการเผยแพร่เนื้อหาให้คนอื่นได้ประโยชน์) และการให้เพื่อหวังผล เช่นหวังผลบุญ หวังให้ได้รับการยอมรับ หวังให้สามารถเคลมเนื้อหาเพื่อเลื่อนขั้น ซึ่งผลในท้ายที่สุดก็ต่างตกไปอยู่กับสังคมโดยรวม บนเงื่อนไขว่าสังคมจะต้องมีเครื่องมือที่ทำให้การเคลื่อนไหวของแรงจูงใจเหล่านั้นเป็นธรรม และครีเอทีฟคอมมอนส์เป็นหนึ่งในเครื่องมือนั้น