การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง

สร้างโดย : นางวไลลักษณ์ ดิษพึ่ง
สร้างเมื่อจันทร์, 04/05/2009 – 12:17

เพลงและนาฏศิลป์พื้นเมืองภาคกลาง

           ศิลปวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นย่อมแตกต่างกันตามภูมิภาค อันเนื่องมาจากภูมิประเทศ ภูมิอากาศ การทำมาหากิน ภาษาและขนบประเพณีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

1. ประวัติความเป็นมาของเพลงพื้นเมืองภาคกลาง

เพลงพื้นเมืองของภาคกลาง
           เพลงพื้นเมืองภาคกลาง เป็นเพลงที่ร้องเล่นกันตามชนบท มีท่วงทำนองคั่น เพื่อให้ลูกคู่ร้องรับ ส่วนเพลงที่มีการร้องโต้ตอบกันมีพ่อเพลงและแม่เพลงเป็นต้นเสียง
           1.1 เพลงพื้นเมืองของภาคกลาง
    
       1.1.1 เพลงพวงมาลัย

ภาพที่ 1.1 การเล่นเพลงพวงมาลัย

ความเป็นมาของการเล่นเพลงพวงมาลัย
    
       การเล่นเพลงพวงมาลัยนิยมเล่นทางจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นครั้ง แรกที่จังหวัดเพชรบุรี มักเล่นในงานเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานลอยกระทงวันเพ็ญเดือนสิบสอง งานผ้าป่ากฐิน งานสงกรานต์ งานโกนจุก บวชนาค โดยมากมักจะร้องควบคู่กันไปกับการเล่นกีฬาพื้นเมืองอย่างหนึ่ง คือ “ช่วงชัย” ถ้าปาลูกช่วงถูกผู้ใดผู้นั้นจะต้องรำ ฝ่ายหญิงถูกรำ ฝ่ายชายก็ร้องเป็นเชิงเกี้ยว ถ้าฝ่ายชายต้องรำ ฝ่ายหญิงก็มักจะร้องว่าต่าง ๆ
           แต่บางทีก็ร้องเป็นแบบโต้ตอบ ไต่ถามบ้านช่อง และอาชีพของกันและกัน
วีธีเล่นเพลงพวงมาลัย
    
       วิธีเล่นจะตั้งวงกลมสลับชาย – หญิง เป็นคู่ ๆ มีพ่อเพลง แม่เพลง ลูกคู่ พ่อเพลงแม่เพลง จะออกมายืนกลางวงร้องเพลงโต้ตอบกัน ใช้มือประกอบคำร้องบ้าง พวกที่ยืนอยู่ในวงเป็นลูกคู่รับ
           ใช้ปรบมือเข้ากับจังหวะเพลง ลูกคู่รับเฉพาะบรรทัดต้นกับบรรทัดสุดท้ายตอนจบเท่านั้น ในสมัยก่อนนิยมร้องกลอนสด บางครั้งพ่อเพลงหรือแม่เพลงคิดกลอนไม่ทันก็ต้องอาศัยคู่ร้องซ้ำตรงที่กลอนติด เพื่อมิให้เงียบเสียงไป ก่อนจะร้องตามความหมายจะต้องมีคำไหว้ครูทุกครั้งอันเป็นเอกลักษณ์ของไทย

การแต่งกาย
           ฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม ผ้าขาวม้าคาดเอว ส่วนฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก

โอกาสที่แสดง
           แสดงในงานฤดูน้ำหลาก หรือในงานนักขัตฤกษ์ งานมงคล เช่น บวชนาค ทอดกฐินและลอยกระทง

สถานที่แสดง
           แสดงและเล่นกันในเรือ แต่ในปัจจุบันร้องและเล่นกันบนเวที จัดเป็น 2 ฝ่าย ชาย – หญิง ว่าแก้กันเป็นคู่

ตัวอย่าง เพลงมาลัยภาษิตไทย

ชาย เอ้อระเหย ลอยมา ลอยมาประสบพบพาน (ซ้ำ)
วันนี้พี่ขอเชิญชวน ให้แม่หน้านวลมาร่วมสำราญ (สำราญ)
มาร้องเพลงพวงมาลัย หยิบภาษาไทยมาไขมาขาน
พวงเจ้าเอ๋ย บัวบาน ภาษิตโบราณมีคุณค่าเอย (รับ)

หญิง เอ้อระเหย ลอยนวล ฟังคำเชิญชวน เล่นภาษิตไทย (ซ้ำ)
น้องนี้ยินดีร่วมวง ทำตามประสงค์ด้วยความเต็มใจ (เต็มใจ)
ภาษิต “ใกล้เกลือกินด่าง” พี่อย่าอำพรางตอบมาไวไว
พวงเจ้าเอ๋ย กล้วยไม้ หมายความว่าอย่างไร ว่าไปเอย (รับ)

ชาย เอ้อระเหย ลอยเรือ ทำไม่ใกล้เกลือกลับต้องกินด่าง (ซ้ำ)
แปลว่าของดีอยู่ใกล้ ไม่รู้จักใช้ประโยชน์ถูกทาง (ถูกทาง)
พี่ถามน้องบ้างละหนา “เกี่ยวแฝกมุงป่า”ว่าไว้เป็นกลาง
พวงเจ้าเอ๋ย ช้องนาง เชิญแม่เอวบางตอบหน่อยเอย (รับ)

หญิง เอ้อระเหย ลอยวารี แปลว่าทุนมีน้อย ทำการใหญ่ (ซ้ำ)
เพราะไม่รู้จักประมาณ ใช้จ่ายจัดงานบานปลายออกไป (ออกไป)
คราวนี้น้องจะขอถาม “ มากหมอมากความ” แปลว่าอย่างไร
พวงเจ้าเอ๋ย หงอนไก่ พี่ปัญญาไวเชิญตอบเอย (รับ)

ชาย เอ้อระเหย ลอยลม ขอตอบทรามชม ถ้าใครเป็นความ (ซ้ำ)
ปรึกษาทนายหลายคน เรื่องจะสับสนวุ่นวายลุกลาม (ลุกลาม)
ภาษิต “น้ำตาลใกล้มด” มิใช่เลี้ยวลดพี่จะขอถาม
พวงเจ้าเอ๋ย พวงคราม ขอเชิญโฉมงาม ตอบหน่อยเอย (รับ)

หญิง เอ้อระเหย ลอยเลื่อน หญิงชายเปรียบเหมือนน้ำตาลใกล้มด (ซ้ำ)
หากให้อยู่ใกล้ชิดกัน เกิดรักผูกพันมิอาจจะอด (จะอด)
ภาษิต “ชิงสุกก่อนห่าม” พี่จะไขความไปให้งามงด
พวงเจ้าเอ๋ย มะลิสด อย่าทำเลี้ยวลด ตอบมาเอย (รับ)

ชาย เอ้อระเหย ลอยลำ พี่ขอคำตอบ “ชิงสุกก่อนห่าม” (ซ้ำ)
วัยรุ่นมีเรื่องชู้สาว เกิดราคีคาวเพราะใจวู่วาม (วู่วาม)
ภาษิต “ดินพอกหางหมู” ขอแม่โฉมตรู จงตอบคำถาม
พวงเจ้าเอ๋ย กุหลาบงาม ของจงไขความให้หน่อยเอย (รับ)

หญิง เอ้อระเหย ลอยคู่ “ดินพอกหางหมู” เขาเปรียบน่าฟัง (ซ้ำ)
งานค้างปล่อยไว้หมักหมม นานเข้าทับถมหนักเกินกำลัง (กำลัง)
ภาษิต “กินปูนร้อนท้อง” พี่จงตอบน้อยอย่าได้ปิดบัง
พวงเจ้าเอ๋ย แคฝรั่ง น้องจะคอยฟัง พี่ชายเอย (รับ)

ชาย เอ้อระเหย ลอยล่อง “กินปูนร้อนท้อง” ที่น้องถามมา (ซ้ำ)
เขาเชื่อกันว่าตุ๊กแก กินปูนร้อนแย่ ก็เลยร้องจ้า (ร้องจ้า)
เหมือนคนทำผิดร้อนตัว รีบบอกเขาทั่ว “ฉันเปล่า” ดอกนา
พวงเจ้าเอ๋ย จำปา พี่ไม่เป็นเช่นว่าดอกเอย (รับ)

หญิง เอ้อระเหย ลอยมาลัย มีภาษิตไทย ดีดี มากมาย (ซ้ำ)
หยิบยกมาเพียงบางบท เวลาก็หมดให้นึกเสียดาย (เสียดาย)
แม้เพลงจะต้องจบลง ภาษิตดำรงดุจแก้วแพรวพราย
พวงเจ้าเอ๋ย ดาวกระจาย อาลัยไม่วาย ขอลาเอย (รับ) 

           1.1.2 เพลงเรือ

ภาพที่1.2 การเล่นเพลงเรือ

ความเป็นมาของการเล่นเพลงเรือ
    
       เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวไทยภาคกลางที่อยู่ตามริมลำน้ำ เช่น สุพรรณบุรี อ่างทอง อยุธยา ฯลฯ นิยมเล่นกันในหน้านาประมาณเดือน 11-12 อุปกรณ์ในการเล่นเพลงเรือคือ เรือของพ่อเพลงลำหนึ่งและเรือของแม่เพลงลำหนึ่ง เครื่องดนตรีมี กรับธรรมหรือกรับพวงและฉิ่ง ถ้าเล่นกลางคืนจะต้องมีตะเกียงไว้กลางลำเรือ เนื้อร้องทั้งสองฝ่ายมาพบกัน พ่อเพลงก็จะพายเรือเข้าไปเทียบเกาะเรือแม่เพลงไว้แม่เพลงเริ่มด้วยเพลงปลอบ หรือเพลงเกริ่น บางคณะจะเริ่มด้วยบทไหว้ครูก่อน จากนั้นแม่เพลงก็จะร้องประโต้ตอบเรียกว่า บทประ แล้วต่อด้วยชุดลักหาพาหนี หรือนัดหมายสู่ขอ แล้วต่อด้วยเพลงชุดชิงชู้และเพลงตีหมากผัว เมื่อเลิกก็จะมีเพลงจาก แสดงความอาลัยอาวรณ์

วิธีเล่นเพลงเรือ
           วิธีเล่นหรือการขับเพลงจะมีต้นเสียงขึ้น และมีลูกคู่รับ โดยใช้ฉิ่งและกรับพวงเป็นเครื่องประกอบจังหวะเวลาร้อง ต้องร้องให้ลงกับจังหวะพาย ผู้ขับเพลงเรือหรือแม่เพลงต้องเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบที่จะหาคำหรือหยิบยกเอาเหตุการณ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาสอดแทรกเข้า ไปให้เหมาะสมอาจเป็นแข่งขัน ยกย่อง เสียดสี ซึ่งทำให้ผู้ฟังสนุกไปด้วยก่อนการเล่นเพลง ต้องมีการกล่าวกลอนไหว้ครูเสียก่อนจากนั้นจึงจะเอื้อนกลอนพรรณนาหรือชักชวนให้คนอื่นมาเล่นด้วยโดยใช้วิธีว่ากลอนกระทบกระทั่งกระเซ้าเย้าแหย่ จนคู่โต้มิอาจจะทนอยู่ได้จึงเกิดการเล่นเพลงเรือ โต้ตอบกันขึ้น การโต้ตอบกันด้วยเพลงเรือ บางทีก็เผ็ดร้อนใช้คารมที่คมคาย บางทีก็อาจเป็นทำนองรักหวานชื่น ทั้งนี้แล้วแต่โอกาสและสถานการณ์

การแสดง
           การแสดงแบ่งเป็น ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง มีพ่อเพลงแม่เพลง
           จะเริ่มด้วยบทไหว้ครู เกี้ยวพาราสี ลักหาพาหนีและตีหมากผัว
           ลักษณะบทร้องแบ่งเป็น 4 ตอน คือ

  1. ปลอบ (ฝ่ายชายชวน)
  2. ประ (ฝ่ายหญิงตอบ)
  3. ดำเนินเรื่อง
  4. จาก

การแต่งกาย
    
       ฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อคอกลม ผ้าขาวม้าคาดเอว ส่วนฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก

โอกาสที่แสดง
    
       แสดงในงานฤดูน้ำหลาก หรือในงานนักขัตฤกษ์ งานมงคล เช่น บวชนาค ทอดกฐินและลอยกระทง

สถานที่แสดง
           แสดงและเล่นกันในเรือ แต่ในปัจจุบันร้องและเล่นกันบนเวที จัดเป็น 2 ฝ่าย
           ชาย – หญิง ว่าแก้กันเป็นคู่

ตัวอย่างเพลงเรือ

ได้ยินน้ำคำเสียงมาร่ำสนอง เสียงใครมาเรียกหาน้อง (ฮ้าไฮ้)ที่ไหนล่ะ
แต่พอเรียกหาฉันแม่หนูไม่นานไม่เนิ่น เสียงผู้ชายร้องเชิญ….ฉันจะว่า
การจะเล่นจะหัวหนูน้องไม่ดีดไม่ดิ้น หรอกว่ายามกฐิน….ผ้าป่า
พอเรียกก็ขานแต่พอวานก็เอ่ย น้องหนูไม่นิ่งกันทำเฉย…ให้มันช้า
แต่พอเรียกหาน้องฉันก็ร้องขึ้นรำ ฉันนบนอบตอบคำจริง….พับผ่า
แม่หนูนบนอบตอบคำ ตอบกันไปเสียด้วยน้ำ…วาจา
แต่พอเรียกหาน้องแล้วฉันก็ร้องว่าจ๋า กันเสียเมื่อเวลาเอ๋ยจวนเอย (รับ)
เมื่อเวลาจวนเอยแต่พอเรียกหาน้อง แม่หนูก็ร้องว่าจ๋าหาน้องหาน้องแม่หนูก็ร้อง
ว่าจ๋ากันเมื่อเวลา เอ๋ยเมื่อเวลา เวลาจวนเอย ฮ้า…ไฮ้

เอ๋ยเรียกหาน้องร้องเอ่ย น้องหนูไม่นิ่งกันทำเฉย…ให้มันช้า
จะเล่นจะหัวกะตัวฉัน เสียงใครมาเรียกแล้วแม่บ้าน…ไกลตา
ครั้นจะไม่ทักไม่ทาย ฉันกลัวว่าพี่แกจะอาย…กันแน่หน้า
ฉันกลัวจะอาจพ่อไหวเอ๋ยเขาบ่น ทั้งฝูงผู้ฝูงคน…ก็มากหน้า
ฉันไม่ให้อายพ่อไหวเอ๋ยเขาแย่ ฉันมิให้พี่ลงไปอาบ…กันแก่หน้า
ฉันจะธุรับหน้าเธอเอาไว้เสมอหน้าท่า
ฉันไม่ชักหน้าก้มให้หกล้มผวา เพราะเราเป็นคนเห็นหน้ากันเลย (รับ)
เอ๋ยคนเห็นหน้ากันเอย
ฉันไม่ชักหน้าก้มให้หกล้มผวา หน้าก้ม หน้าก้ม ให้หกล้มผวา เพราะเป็นคน
เห็นหน้า เอ๋ยคนเห็นหน้า เห็นหน้ากันเลย (ฮ้า…ไฮ้)

           1.1.3 เพลงฉ่อย

ภาพที่ 1.3 การแสดงเพลงฉ่อย

ประวัติความเป็นมาของเพลงฉ่อย
    
       เพลงฉ่อยเป็นเพลงพื้นบ้าน บทกลอนที่ใช้ร้องเป็นแบบเดียวกับเพลงเรือวิธีเล่นจะรวดเร็วกว่าเพลงเรือ นิยมแสดงในจังหวัดสุพรรณบุรี อ่างทอง และสิงห์บุรี สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่มที่ 9 ได้กล่าวถึง ฉะหน้าโรง (ฉ่อย) ไว้ดังนี้
           “ฉะหน้าโรง (ฉ่อย) เป็นการร้องเพลงฉ่อยหรือเพลงทรงเครื่องในตอนเบิกโรง การแสดงเพลงฉ่อย หรือเพลงทรงเครื่อง โดยประเพณีแล้วจะต้องเริ่มต้นด้วยการไหว้ครู คือทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะออกมาร้องไหว้คุณพระรัตนตรัย คุณครูบาอาจารย์ ตลอดจนคุณบิดร มารดาเสียก่อน เมื่อจบแล้วปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเพลงสาธุการ ครั้นเพลงสาธุการจบลงแล้วพ่อเพลง(หัวหน้าฝ่ายชาย) ก็จะเริ่มร้องเป็นการประเดิมเบิกโรง บางคณะก็จะร้องว่า
           พอจนส่งลงวา ปี่พาทย์รับสาธุการ
           ฆ้องระนาดฉาดฉาน ชาวประชามามุง
           กลองก็ตีปี่ก็ต๊อย พวกเพลงก็ทอยกันมุง..ไป
           ในตอนนี้ซึ่งเรียกว่า “ฉะหน้าโรง” การว่าเพลงกันในตอนนี้ผู้ชายจะร้องเชิญชวนจนฝ่ายหญิงออกมาร่วมร้องด้วย แล้วก็เกี้ยวพาราสีและว่าเหน็บแนมกันเจ็บ ๆ แสบ ๆ ถ้อยคำระหว่างชายหญิงที่ร้องว่ากันในตอนนี้ ในสมัยโบราณจะเต็มไปด้วยคำหยาบโลน อย่างดีก็เป็นสองแง่สองง่ามโดยตลอด เรียกการร้องตอนนี้ว่า “ประ” เห็นจะย่อมาจาก “ประคารม” การร้องเพลงฉะหน้าโรงนี้เป็นตอนที่ผู้ชมชอบฟังกันมาก เพราะจะได้เห็นความสามารถของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงใช้ปฏิภาณปัญญาร้องแก้กันได้อย่างถึงอกถึงใจ ถ้าผู้ร้องแก้อีกฝ่ายหนึ่งแก้ไม่ตกก็เป็นที่อับอายกัน ครั้นว่า “ประ” ในตอนฉะหน้าโรงนี้จนหมดกระบวนแล้ว ในสมัยโบราณมักจะร้องส่งให้
           ปี่พาทย์รับเพลงหนัง เพลงที่ร้องนี้ คือ เพลงพม่าห้าท่อน 2 ชั้น เฉพาะท่อนต้นท่อนเดียวและยังทำให้เพลงได้ชื่อว่า “เพลงพม่าฉ่อย” ไปด้วย เมื่อเพลงพม่าฉ่อยนี้จบแล้ว ถ้าเป็นการเล่นเพลงฉ่อยก็จะร้องกันต่อไปตามแนวที่จะว่ากันอาจเป็นแนวการลักหาพาหนี หรือไต่ถามความรู้เป็นปัญหาธรรม หรือขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆแต่ไม่ว่าจะร้องด้วยเรื่องอะไร ฝ่ายชายก็มักจะตอบวกเข้าเป็นเชิงสองแง่สองง่ามหยาบโลนอยู่เสมอ แต่ถ้าเป็นการแสดงเพลงทรงเครื่อง พอจบเพลงพม่าฉ่อยแล้ว ปี่พาทย์ก็จะบรรเลงวาหรือเพลงเสมอ ตัวแสดงออกมาเริ่มแสดงเป็นเรื่องราวต่อไป การแสดงเพลงทรงเครื่องนั้นแสดงเหมือนละครหรือลิเก ผู้แสดงแต่งเครื่องปักดิ้นเลื่อนแพรวพราวอย่างเดียวกัน แต่สมัยนั้นผู้แสดงต้องร้องเองและเพลงที่ร้องดำเนินเรื่องหรือพรรณนาใด ๆ ต้องใช้ทำนองเพลงฉ่อยทั้งสิ้น จะมีร้องส่งปี่พาทย์รับบ้างก็เพียงเล็กน้อย ส่วนเพลงหน้าพาทย์เชิด เสมอ โอด ฯลฯ มิใช่เช่นเดียวกับละครลิเก อาจารย์สุทธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ได้กล่าวถึง “เพลงฉ่อย” ในวรรณคดี และวรรณกรรมปัจจุบันไว้ตอนหนึ่งว่า

การเล่นเพลงฉ่อย จะมีการปรบมือให้จังหวะ เนื้อเพลงนั้นคล้ายกับ เพลงพวงมาลัยและเพลงนี้ก็จะต้องจบลงด้วยสระไอทุกคำกลอนเช่นกัน แต่เมื่อจะถึงบทเกี้ยว ลักษณะเพลงจะคล้ายเพลงเรือลูกคู่นอกจากจะคอยปรบมือให้จังหวะแล้ว ก็จะต้องรับตอนจบว่า
“ชา เอ๋ ฉา ชา หน่อย แม่ เอย”
สำหรับแม่เพลงก่อนจะขึ้นบทใหม่ทุกครั้งต้องขึ้นว่า
“โอง โงง โง โฮะ ละ โอ่ โง๋ง โง๋ย” ในบทหนึ่งจะว่ายาวสักเท่าไรก็ได้

วิธีเล่นเพลงฉ่อย
    
       ผู้แสดง แบ่งเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง มีพ่อเพลงและแม่เพลง เริ่มด้วยการไหว้ครู ใช้กลอนเพลงอย่างโคราช การร้องจะมีต้นเสียงและลูกคู่ร้องรับ ดนตรีใช้การตบมือเป็นจังหวะ
           การเล่นเพลงฉ่อยนั้นได้แยกแยะวิธีการเล่นออกไปอีกหลายอย่างโดยคิดผูกเป็นเรื่องสมมติขึ้นเพี่อหาทางใช้วาทศิลป์ได้แปลก ๆ เช่น ชุดสู่ขอ ลักหาพาหนี ตีหมากผัว และเชิงชู้เป็นต้น

ชุดสู่ขอ จะต้องมีพ่อเพลงและแม่เพลงหลายคน อย่างน้อยก็ฝ่ายละ 3 คือ พ่อแม่ ของทั้งสองฝ่ายและตัวหนุ่มสาว แสดงถึงการไปว่ากล่าวสู่ขอตามประเพณี ซึ่งต่างก็จะใช้คารมโต้เถียงงอนกันไปเรื่อย และมักสิ้นสุดลงด้วยความไม่สำเร็จ อันเป็นต้นเหตุให้เกิดการลักหาพาหนี

ชุดลักหาพาหนี เป็นการแสดงของชายหญิงเพียงฝ่ายละ 1 ใช้ศิลปะการร้องเพลงในการดำเนินเรื่องอย่างน่าฟัง เช่น ตอนจะลอบออกจากบ้าน เข้าป่าชมดง ซึ่งมีวิธีร้องเป็นทำนองเทศน์แหล่มหาพนบ้าง ทำนองพุทธโฆษา โล้สำเภาบ้าง
ชุดตีหมากผัว นั้นก็คือการแสดงหึงหวงระหว่างสองหญิง โดยมีพ่อเพลงคนหนึ่งแม่เพลงสองคน สมมติว่าผู้หญิงเป็นคู่รักเก่าหรือภริยาเก่าไปพบชายคู่รักหรือสามีกำลังประโลมหญิงอื่นก็เกิดการหึงหวงทะเลาะวิวาทกัน

ชุดชิงชู้ มักเริ่มต้นด้วยชายหนึ่งไปพบหญิงผู้เป็นภรรยาผู้อื่นกล่าวเกี้ยวพาราสีแทะโลมจนหญิงตกลงใจตามไป สามีเก่าตามไปพบเข้าก็เกิดการว่ากล่าวกันใหญ่โต ซึ่งอาจจบเพียงนี้หรืออาจต่อไปถึงขั้นฟ้องร้องยังโรงศาล โดยมีพ่อเพลงเป็นตัวตุลาการ อีกผู้หนึ่งมักเป็นนายอำเภอ ดังนั้น จากการได้แนวความคิดจากท่านผู้รู้ได้บันทึกไว้รวมทั้งจากการสังเกตจากโดยทั่ว ๆไป เราอาจจะกล่าวได้ว่า “เพลงฉ่อย” เป็นการละเล่นพื้นเมือง อย่างหนึ่งของชายหญิงอันแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านพื้นเมืองนั้น ๆ ร้องโต้ตอบกัน แก้กันในความหมายต่าง ๆ ส่วนมากเป็นการประคารม คำร้องเป็นลักษณะกลอนอย่างปรบไก่ แรกเริ่มฝ่ายชายเกริ่นขึ้นต้นด้วยเสียงเอื้อน
           “โอง-โงง-โงย-ฉะโอง-โงง-โงย”
           แล้วชักชวนให้ผู้หญิงโต้ตอบกัน

การแต่งกาย
    
       ผู้หญิงนุ่งโจงกระเบนตามแต่ถนัด ใส่เสื้อรัดรูปมีสีสันสะดุดตา ทัดดอกไม้ ฝ่ายผู้ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมสีต่าง ๆ

โอกาสที่แสดง
    
       มักนิยมเล่นในงานเทศกาล หรืองานรื่นเริงของหมู่บ้าน ในวงการมหรสพต่าง ๆเช่น งานปีใหม่ ทอดกฐิน นำมาเป็นรายการแสดงก็มี

ตัวอย่างบทไหว้ครูชาย

ชา ฉ่า ชะชา เอิงเอยเอ่อเอิงเอ๊ย
มือของลูกสิบนิ้ว ยกขึ้นหว่างคิ้วถวาย
ต่างธูปเทียนทอง ทั้งเส้นผมบนหัว
ขอให้เป็นดอกบัว ก่ายกอง…เอย…ไหว้
อีกทั้งเส้นผมบนหัว (ซ้ำ) ขอให้เป็นดอกบัวก่ายกอง(ซ้ำ)เอยไหว้…เอ่ชา
ลูกจะไหว้พระพุทธที่ล้ำ ทั้งพระธรรมที่เลิศ
ทั้งพระสงฆ์องค์ประเสริฐ ขออย่าไปติดที่รู้
ถ้าแม้นลูกติดกลอนต้น ขอให้ครูช่วยด้นกระทู้ไป
ถ้าแม้นลูกติดกลอนตัน(ซ้ำ) ขอให้ครูช่วยด้นกระทู้(ซ้ำ) เอชา
รับเหมือนอย่างสองบทต้น ยกไหว้ครูเสร็จสรรพ หันมาคำนับกลอนว่า
ไหว้คุณบิดรมารดาท่านได้อุตส่าห์ถนอมกล่อมเกลี้ยงประโลมเลี้ยงลูกมา
ทั้งน้ำขุ่นท่านมิให้อาบ ขมิ้นหยาบมิให้ทา
ยกลูกบรรจงลงเปล ร้องโอละเห่-ละชา ไกว (รับ)
แม่อุตส่าห์นอนไกว จนหลังไหล่ถลอก
หน้าแม่ดำช้ำชอก มิได้ว่าลูกชั่ว
จะยกคุณแม่เจ้า วางไว้บนเกล้าของตัว…ไหว้ (รับ)

ตัวอย่างบทสู่ขอ

เราเป็นเถ้าแก่ จะต้องไปแหย่ข้างแม่ยาย
เราจะเข้าตามตรอกออกทางประตู ให้พ่อแม่เอ็งรู้ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่
พี่จะเตรียมทั้งขนมตั้งขนมกวย พี่ก็จัดแจงใส่ถ้วยออกไป
เตรียมขนมต้มไปเซ่นผี ให้น้องสักสี่ห้าใบ
พี่จัดทองหมั้นขันขันหมาก โตเท่าสากเจ๊กไท้

ตัวอย่างบทลักหาพาหนี

พี่จะไปสู่ขอพี่ก็ท้อก็แท้ ทั้งพ่อทั้งแม่ของพี่ก็ตาย
รักกันให้ไปด้วยกัน ให้ไปกะฉันไม่เป็นไร
ที่เขารักกันหนาพากันหนี เขามั่งเขามีก็ถมไป
ถึงขึ้นหอลงโรง ถ้ากุศลไม่ส่งมันก็ฉิบหาย (เอชา)

ตัวอย่างชุดตีหมากผัว

แหมพิศโฉมประโลมพักตร์ แม่เมียน้อยน่ารักเสียนี่กระไร
เนื้อก็เหลืองไม่ต้องเปลืองขมิ้น สวยไปตั้งแต่ตีนตลอดไหล่
อะไร ๆ แม่คนนี้ดีไปทุกสิ่ง เสียแต่เป็นหญิงตูดไวตูดไว (เอชา)
เขาว่าเมียเขาไม่ดี เขาอยู่เอก็เปล่ากาย
เมียเขามีจริง แล้วเขาก็ว่าทิ้งกันไป
กินแล้วก็นอนร้องละครไปวันยังค่ำ งานการน่ะทำไปเสียเมื่อไร
ดีแต่ประแป้งแต่งตัว เอาแม่ผัวไปนินทาซุกหัวกระได
ผัวเขาเลยขายส่งไปเสียที่โรงตรอก ไม่รู้เมียหลวงลอยดอกมาเมื่อไร(เอชา)

           1.1.4 เพลงอีแซว

ภาพที่ 1.4 การเล่นเพลงอีแซว
http://www.student.chula.ac.th/~49467529/esaew.files/image003.jpg

           เพลงอีแซว เป็นเพลงพื้นบ้านประจำท้องถิ่นและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี มีกำเนิดและเป็นที่ยอมรับกันว่าเพลงนี้เกิดในถิ่นสุพรรณบุรีโดยตรง แพร่หลายในเขตจังหวัดสุพรรณ บุรีและใกล้เคียง เพลงอีแซวมีความเป็นมาที่ยาวนาน มากกว่า 100 ปี โดยในช่วงแรกๆ นั้นมีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ ( เพลงโต้ตอบ ) ที่ หนุ่มสาวใช้ร้องยั่วเย้า เกี้ยวพาราสีกันอย่างง่ายๆ สั้นๆ เพลงอีแซว แต่ก่อนเรียก เพลงยั่วเพราะร้องยั่วกัน คล้ายเพลงกลองยาว ต่อมามีผู้เอาแคนไปขายที่สุพรรณ ก็เอาแคนมาเป่าประกอบด้วย เรียกกันว่า เพลงแคน เวลาร้องใช้มือตบ เป็นจังหวะบางคนจึงเรียก เพลงตบแผละ จากนั้น ทำนองและเนื้อร้องก็ค่อย ๆ มีแบบเป็นของตัวเองขึ้น จึงมาเรียกเพลงอีแซว มีการยืมเนื้อจากเพลงฉ่อยทางอ่างทองมาร้องเป็นเรื่องยาวขึ้น เหตุที่เรียกเพลงอีแซวนั้น ก็สันนิษฐานกันไป ที่น่าเชื่อก็คือ พ่อบัวเผื่อน สันนิษฐานว่า ” เพราะยืนร้องแซวกันทั้งคืน” กระทั่งเมื่อ 60-70 ปีที่ผ่านมาจึงได้พัฒนาเป็นเพลงปฏิพากย์ยาวคือมีเนื้อเพลงที่ใช้ร้องในแต่ละครั้งยาวมากขึ้น พร้อมกับมีการดัดแปลงทำนองและลักษณะการร้องรับของลูกคู่ นอกจากนั้นยังได้มีการพัฒนาเสื้อผ้าของผู้แสดง โดยจะนุ่งโจงกระเบนทั้งฝ่ายชายและหญิง ส่วนเสื้อนั้น ฝ่ายหญิงจะใส่เสื้อแขนสั้นคอกลมหรือ คอเหลี่ยมกว้าง ฝ่ายชายมักจะ ใส่เสื้อแขนสั้นคอกลม สร้าง สรรค์ความสะดุดตาด้วยสี ที่ฉูดฉาดเพื่อดึงดูดใจผู้ชม ด้วยความนิยมในเพลงอีแซวทำให้สามารถแสดงได้เกือบทุกสถานที่และทุกโอกาสเพียงแต่ จะไม่มีการแสดงในงานแต่งงาน วงอีแซวจะไม่มีข้อกำหนดเรื่อง จำนวนผู้แสดง แต่ในวงหนึ่งๆ จะมีการจัดสรรแหน่งหน้าที่ ของผู้แสดงประกอบด้วย พ่อเพลง ( ผู้ร้องนำฝ่ายชาย ) แม่เพลง ( ผู้ร้องนำฝ่ายหญิง ) คอต้น ( ผู้ร้องเพลงโต้ตอบคนแรก ) คอสอง , คอสาม ( ผู้ร้องคนที่สองและ สาม ) และ ลูกคู่ ( จำนวนไม่จำกัด มีหน้าที่ร้องรับ ร้องซ้ำความ ร้องสอดแทรกขัดจังหวะ เพื่อความสนุกสนาน )
           เพลงอีแซวมีจะดำเนินการแสดงโดยมีเนื้อหาเรียงลำดับ เริ่มต้นด้วยบทไหว้ครู บทเกริ่น บทประ และจบท้ายด้วยบทจาก หรือบทลา

  1. บทไหว้ครู เป็นบทกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และผู้มีพระคุณ ได้แก่ พระรัตนตรัย เทวดา ภูตผี พ่อแม่ ครูอาจารย์ ( ครูเพลงของอีแซวจะมีสองแบบ “ ครูเพลงที่เป็นจิตวิญญาณ ” เช่นพระนารายณ์ ฤาษีหรือพ่อแก่ และครูอีกประเภทคือ “ ครู เพลงที่เป็นมนุษย์ ” นอกจากครูเพลงทั้งสองแบบแล้ว ก็มี “ครู พักลักจำ” ซึ่งหมายถึงครูที่ผู้ร้องไม่ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ แต่ได้ แอบจดจำเพลงหรือลีลา ) การร้องบทไหว้ครูจะต้องนั่งกับพื้นร้อง โดยมี “พาน กำนล” หรือพานไหว้ครูวางไว้ข้างหน้า หรือยกถือไว้ในขณะร้อง โดยพ่อเพลงจะร้องก่อน ตามด้วยแม่เพลง
  2. บทเกริ่น เป็นบทร้องของฝ่ายชายและหญิงก่อนที่จะ มาพบกันตามเหตุการณ์ที่สมมุติไว้ บทเกริ่นเริ่มต้นภายหลังจาก บทไหว้ครูจบลง ผู้แสดงทั้งหมดจะลุกขึ้นยืนร้อง “เพลงออกตัว” มีเนื้อหาทักทายกัน แนะนำตัว ฝากตัวกับผู้ชม ตามด้วย “เพลง แต่งตัว” หากสมมุติเหตุการณ์เป็นการชักชวนกันไปเที่ยวบ้าน สาวๆ พอมาถึงบ้านฝ่ายหญิงแล้วจะร้อง “เพลงปลอบ” ซึ่งเป็น เพลงที่ชักชวนให้ฝ่ายหญิงออกมาร้องเพลงโต้ตอบกัน
  3. เพลงประ หมายถึงการร้องปะทะคารมกันของทั้งสอง ฝ่าย เพลงประของวงอีแซวมีหลายแบบ ได้แก่ แนวรัก ( การเกี้ยว พาราสี ) แนวประลอง ( การทดสอบฝีปากหรือทดสอบภูมิปัญญา ) และแนวเพลงเรื่อง ( ดำเนินเรื่องราวตามเรื่องของ นิทาน นิยาย หรือวรรณกรรม )
  4. บทจาก หรือ บทลา เป็นเพลงที่ใช้ร้องเพื่อ แสดงถึงความอาลัยคู่เล่นเพลง ผู้ชม หรือ กล่าวอำลาผู้ชม หรือเจ้าภาพผู้ว่าจ้างให้มาแสดง
  5. การอวยพร เป็นการร้องขอบคุณเจ้าภาพ และ ผู้ชม รวมทั้งขอบคุณผู้ให้รางวัล

ทำนองเนื้อร้องเดิมจะร้องลักษณะนี้

ชาย “ตั้งวงไว้เผื่อ ปูเสื่อไว้ท่า เอย…..
จะให้วงฉันรา ซะแล้วทำไม (จะให้วงฉันราชะแล้วทำไม)
รักจะเล่นก็ให้เต้นเข้ามาเอย…….
คนสวยจะช้า ซะแล้วทำไม (รับคนสวยจะช้า ซะแล้วทำไม”)
มาในปัจจุบันทำนองจะผิดไป และภายหลังคำ ซะแล้ว จะเหลือเพียง แล้ว ต่อมาสันนิษฐานว่า นายกร่าย พ่อเพลงรุ่นเดียวกับพ่อบัวเผื่อน หรือหวังเต๊ะ นักลำตัดชั้นครูได้ดัดแปลงทำนองเพลงอีแซวเป็นอีกทำนองหนึ่ง อย่างที่ขึ้นต้นว่า “เอ้ามาเถิดมากระไรแม่มา ๆ …..”พ่อไสว เป็นผู้เอาตะโพนสองหน้าเข้าไปตีประกอบเป็นเครื่องให้จังหวะเพิ่ม จากฉิ่ง กรับ และการปรบมืออีกเพลงอีแซวมีจังหวะกระชั้นเร็วกว่า
เพลงฉ่อยหนึ่งเท่า คนร้องจึงต้องจำเพลงหลักให้แม่และมีปฏิภาณว่องไว ไม่อย่างนั้นก็ร้องไม่ทัน

ตัวอย่างเพลงอีแซวของพ่อไสว

จากนาง (เพลงอีแซวของพ่อไสว)
เอย…พี่น้องป้าน้าจะต้องลาแน่วแน่เอย….. ปากลาตาแลยังหลงอาลัย
มันเกิดกรรมปางก่อนต้องจากก่อนไกลกัน เกิดกรรมกางกั้นจะไม่ได้กอดก่าย
แม่คู่ข้าเคียงข้าง อย่าระคายเคืองขุ่น ต้องจากแน่แม่คุณเอยแม่ข่อยใบคาย
มันมีข้อขัดข้องไม่ได้ประคองเคียงข้าง รักพี่ตกค้างไม่รู้ไปฝากไว้กะใคร
รักใครรักเขามันไม่เท่ารักน้อง แม่คู่เคยประคองแม่แก้วขาวปานไข่
อีแม่คู่เคยเข็น เห็นจะเป็นคู่เขา พี่มานั่งกอดเข่าแทบจะเป็นไข้
น้องจะมีคู่ ให้นึกถึงข้า (เอย…..นึกถึงข้า)
เนื่องจากช่วงเวลาที่เล่นเป็นฤดูน้ำหลาก เป็นช่วงทำนาบรรดาพ่อเพลงแม่เพลงจากถิ่นต่าง ๆ ก็จะมาชุมนุมกัน พวกที่มาทางบกก็เล่นเพลงอีแซว ด้วยเหตุเป็นเพลงเร็ว จังหวะกระชั้น ผู้ร้องมีปฏิภาณดีหรือที่เรียกว่า มุติโตแตกฉาน ซึ่งสะท้อนภาพสังคม สอดแทรกมุขต่าง ๆ ลงในบทร้อง มีข้อความเสียดสี กินใจ สั่งสอน และบทตลก ลงท้ายด้วยการขออภัยที่ได้ล่วงเกิน จากนั้นก็ให้พรซึ่งกันและกัน ทั้งเจ้าภาพและผู้ฟัง

อุปกรณ์และวิธีการเล่น

           พ่อเพลงและแม่เพลง จะเริ่มต้นโดยการกล่าวบทไหว้ครู จากนั้นฝ่ายชายจะเป็นผู้เริ่มเรียกว่า ปลอบ ฝ่ายหญิงจะว่าบท รับแขก จากนั้นฝ่ายชายจะวกเข้าหา บทเกี้ยว ฝ่ายหญิงจะรับด้วยบท เล่นตัว ฝ่ายชายจะว่าบท ออด ฝ่ายหญิงจะตอบด้วยบทเสียแค่นไม่ได้ รับรัก จากนั้นฝ่ายหญิงจะขึ้นบท เกี่ยง ให้มาสู่ขอฝ่ายชายจะขอพาหนีพอหนีตามกันก็จะถึงบทชมนกชมไม้

โอกาสและเวลาการเล่น

           เล่นในเวลาเทศกาลงานสำคัญ เช่น ตรุษสงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ งานมนัสการหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลยก์เดือน12 งานทอดกฐินรวมทั้งงานเกี่ยวข้าว

           1.1.5 เพลงเกี่ยวข้าว

ภาพที่ 1.5 เพลงเกี่ยวข้าว

ประวัติความเป็นมาของเพลงเกี่ยวข้าว
    
       เพลงเกี่ยวข้าวเป็นเพลงที่สำหรับร้องกันในขณะลงแขกเกี่ยวข้าว อันเป็นอาชีพสำคัญของประชาชนชาวไทยอย่างหนึ่ง เพื่อให้ความสนุกสนานกับความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าในการงานและเชื่อมความสามัคคีในระหว่างพื้นบ้านอาชีพเดียวกันเพลงเกี่ยวข้าวจะเล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าวจะเล่นกันเมื่อหยุดจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเหมือนกับเพลงเต้นกำรำเคียวกล่าวคือจะเล่นเพลงเกี่ยวข้าวก่อนที่จะเล่นเพลงเต้นกำรำเคียวไม่มีกำหนดเวลาในการเล่น คือ เล่นกันจนเหนื่อยก็เลิกเนื้อความของเพลงมักจะเกี่ยวกับ การไต่ถามถึงการทำนาผสมผสานการเกี้ยวพาราสีกัน เพลงเกี่ยวข้าวบางแห่งเรียก “เพลงกำ” เวลาแสดงมือหนึ่งถือเคียว อีกมือหนึ่งกำข้าวไว้ ย่ำเท้าใช้ลีลาไปตามจังหวะเพลง ใช้ตบมือให้จังหวะพร้อม ๆ กัน บางครั้งใช้กลองและฉิ่งเข้าร่วมด้วย

วิธีเล่นเพลงเกี่ยวข้าว
    
       ผู้เล่นมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แบ่งเป็น 2 ฝ่าย มีพ่อเพลงและแม่เพลงร้องโต้ตอบกันโดยใช้การตบมือให้จังหวะพร้อมๆ กัน บางครั้งใช้กลองและฉิ่งเข้าร่วมด้วย ผู้ชายออกมาร้องก่อน แล้วฝ่ายหญิงก็ร้องตอบโต้โดยขึ้นต้นว่า “เอ่อ เออ เอิ้ง เอ๊ย”หรือ “โหยย เอ้า โหยย โหยย” ถ้อยคำที่ร้องเล็ก ๆ น้อย ๆหยุมหยิมเหล่านี้ ร้องในเวลาเกี่ยวข้าว เป็นโอกาสให้หญิงชายได้รู้จักท่วงทีกิริยากันยังไม่ร้องโต้ตอบกันเผ็ดร้อน ครั้นพอตกเย็นหยุดพักเกี่ยวข้าวก็เล่นกันใหม่ เรียกว่า รำกำรำเคียว มือหนึ่งถือข้าวมือหนึ่งถือเคียว ตอนนี้ตั้งวงแล้วเริ่มไหว้ครูก่อนระหว่างที่เพลงนี้ มือถือกำข้าวรำไปตามจังหวะและคำที่ร้อง กลอนที่ร้องคล้ายกับเพลงเรือการเล่นไม่นานนัก เพราะมีเวลาน้อยและเหนื่อยมาจากการเกี่ยวข้าว เพลงที่ร้องเวลาเกี่ยวข้าวนั้น มีร้องประปรายกันเล็กน้อย เป็นกลอนสั้น ๆ พอที่จะร้องได้ทั่ว ๆ กัน

การแต่งกาย
    
       ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วยและเสื้อกุยเฮงสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดพุง สวมงอบและไม่สวมรองเท้า ฝ่ายหญิงจะนุ่งโจงกระเบนและเสื้อแขนกระบอกสีดำทั้งชุดเช่นกัน ทัดดอกไม้ที่หูขวาและไม่สวมรองเท้าผู้แสดงทุกคนต้องถือเคียวในมือขวาและถือรวงข้าวในมือซ้ายด้วย

โอกาสที่แสดง
    
       เพลงเกี่ยวข้าวจะเล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว จะเล่นกันเมื่อหยุดจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว เหมือนกับเพลงเต้นกำรำเคียว กล่าวคือ จะเล่นเพลงเกี่ยวข้าวก่อนที่จะเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว และไม่มีกำหนดเวลาในการเล่น คือ เล่นกันจนเหนื่อยก็เลิก

สถานที่แสดง
    
       เล่นกันในท้องนาที่เกี่ยวข้าวหรือลานดินกว้าง ๆ ในท้องนาแต่ในปัจจุบันร้องและเล่นกันบนเวที จัดเป็น 2 ฝ่าย ชาย – หญิง ว่าแก้กันเป็นคู่

จำนวนผู้แสดง
    
       ผู้เล่นเพลงเกี่ยวข้าวเป็นชาวบ้านมีอาชีพทำนา โดยไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น จะเล่นกี่คนก็ได้ ยิ่งมากยิ่งสนุก โดยมีพ่อเพลงแม่เพลงและลูกคู่รวมทั้งผู้ชมด้วย

ตัวอย่างเพลงเกี่ยวข้าว

เกี่ยวเถิดนะแม่เกี่ยว อย่ามัวชะแง้แลเหลียว
เคียวจะบาดก้อยเอย ฯ
คว้าเถิดหนาแม่คว้า รีบตะบึงให้ถึงคันนา
จะได้พูดจากันเอย ฯ
เกี่ยวข้าวแม่ยาย ผักบุ้งหญ้าหวาย
พันที่ปลายคำเอย ฯ
คว้าเถิดนะแม่คว้า ผักบุ้งสันตะวา
คว้าให้เต็มกำเอย ฯ

           1.1.6 เพลงลำตัด

ภาพที่ 1.6 การแสดงลำตัด

ประวัติความเป็นมาของเพลงลำตัด
           ลำตัด เป็นการแสดงที่มาจากการแสดงบันตนของแขกมลายู ลำตัดจะมีลักษณะตัด และเฉือนกันด้วยเพลง (ลำ) การว่าลำตัดจึงเป็นการว่าเพลงรับฝีปากของฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงโดยตรง มีทั้งบทเกี้ยวพาราสี ต่อว่า เสียดสี แทรกลูกขัด ลูกหยอด ให้ได้ตลกเฮฮากัน สำนวนกลอนมีนัยยะออกเป็นสองแง่สองง่าม เครื่องดนตรีที่ใช้ คือ กลองรำมะนา ฉิ่ง วิธีแสดงจะมีต้นเสียงร้องก่อน โดยส่งสร้อยให้ลูกคู่ร้องรับ แล้วจึงด้นกลอนเดินความ เมื่อลงลูกคู่ก็จะรับด้วยสร้อยเดิมพร้อมกับตีรำมะนา และฉิ่งเข้าจังหวะการร้องรับนั้นด้วย ลำตัด เป็นการแสดงที่มาจากการแสดงลิเกบันตนของมลายู
ลำตัด เรียกได้ว่า เป็นเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองชนิดหนึ่งของไทย ซึ่ง นิยมร้องกันในเขตภาคกลาง ทั้งนี้ มีต้นกำเนิดมาจาก “ลิเกบันตน” ของชาวมลายู ในต้นรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยลิเกบันตนดังกล่าว มีรูปแบบของการแสดงแยกออกเป็น 2 สาขา สาขาหนึ่ง เรียกว่า “ฮันดาเลาะ” และ “ลากูเยา” และลิเกบันตนลากูเยา มีลักษณะของการแสดงว่ากลอนสดแก้กัน โดยมีลูกคู่คอยรับ เมื่อต้นบทร้องจบ ต่อมาเมื่อมีการดัดแปลงกลายเป็นภาษาไทยทั้งหมด จึงเรียกกันว่า “ลิเกลำตัด” ในระยะแรก และเรียก สั้น ๆ ในเวลาต่อมาว่า “ลำตัด” ซึ่งมีลักษณะของเพลงและทำนองเพลงที่นำมาให้ลูกคู่รับ โดยมากก็มักตัดมาจากเพลงร้องหรือเพลงดนตรีอีกชั้นหนึ่ง โดยเลือกเอาแต่ตอนที่เหมาะสมแก่การร้องนี้มาเท่านั้นบัดนี้ชื่อถูกตัดลงไปโดยความกร่อนของภาษาเหลือเพียงว่า “ลำตัด” เป็นการตั้งชื่อที่เหมาะสม เรียกง่าย มีความหมายรู้ได้ดีมาก (มนตรี ตราโมท,2518 : 46 – 65) กล่าวคือ ความหมายเดิม “ลำ” แปลว่าเพลงเมื่อนำมารวมกับคำว่า “ตัด” จึงหมายถึง การนำเอาเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ อีกหลายชนิด ตัดรวมเข้าเป็นบทเพลง เพื่อการแสดงลำตัด เช่น ตัดเอา เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย เพลงเรือ เพลงพวงมาลัย และเพลงอีแซว เป็นต้น เข้ามาเป็นการละเล่นที่เรียกว่า ลำตัด (ธนู บุญยรัตพันธ์, สัมภาษณ์)
           วิธีแสดงลำตัด ผู้เล่นลำตัดส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิมต่างจากลิเกที่ผู้แสดงจะเป็นคนไทยล้วนๆเพราะลิเกต้องไหว้ครูฤาษีซึ่งขัดกับหลักของศาสนาอิสลาม ปัจจุบันคณะลำตัดที่มีชื่อเสียงในอยุธยา จะมีอยู่ 2 คณะ คือ คณะซึ่งเป็นคนไทยเชื้อสายมอญ และคณะคนไทยซึ่งเป็นชาวมุสลิมการแสดงลำตัดเป็นการเฉือนคารมกันด้วยเพลง(ลำ)โดยมีการรำประกอบแต่ไม่ได้ เล่นเป็นเรื่องอย่างลิเกและการแสดงต้องมีทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงและเป็นที่นิยมกันมากเนื่องจากเป็นการแสดงโดยการใช้ไหวพริบปฏิภาณใน การด้นกลอนสดส่วนการประชันลำตัดระหว่าง2 คณะ จะใช้เสียงฮาของคนดูเป็นเกณฑ์ คณะใดได้เสียงฮาเสียงปรบมือมากกว่า ก็จะถือเป็นฝ่ายชนะ

ภาพที่1.7 เครื่องดนตรีประกอบในการแสดงลำตัด

โอกาสที่แสดง
           มักนิยมเล่นในงานมหรสพต่าง ๆ แต่เมื่อมีคนนิยมหรือแพร่หลายออกไปจึงเกิดมีการประชันแข่งขันกันขึ้นแทนที่จะว่าแก้กันในหมู่วงเดียว เดิมทีเดียวใช้ผู้แสดงเป็นชายล้วน ๆ ไม่มีหญิงปนเลยต่อมาในระยะหลังได้มีวิวัฒนาการมีชายหญิงแสดงร่วมกัน
เครื่องแต่งกาย
           แต่งกายแบบไทยพื้นเมือง ผู้หญิงนุ่งจีบหรือโจงกระเบนตามแต่ถนัด ใส่เสื้อรัดรูปแขนสั้น หลากสีสัน ทัดดอกไม้ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมสีต่าง ๆ
ดนตรีที่ใช้
           มี กลองรำมะนา กรับ ฉิ่ง
ศิลปินแห่งชาติ
           นางประยูร ยมเยี่ยม ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ลำตัด) พุทธศักราช 2537

ภาพที่ 1.8
นางประยูร ยมเยี่ยม

           แม่ประยูร มีชื่อและนามสกุลจริงว่า นางประยูร ยมเยี่ยม เกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พุทธศักราช 2476 ที่จังหวัดนนทบุรีปัจจุบันอายุ68ปีท่านมีนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เด็กสามารถอ่านบทร้อยกรองได้อย่างไพเราะทั้งยังมีความทรงจำดีเยี่ยมเมื่ออายุได้ราว 13-14ปี คุณตาของท่านซึ่งมองเห็นแววว่าท่านน่าจะเป็นนักแสดงที่ดีได้จึงสนับสนุนให้เอาดีทางด้านการแสดงโดยการไหว้วานคนรู้จักที่ชื่อนายแดงให้ ช่วยหาครูสอนเพลงพื้นบ้านให้ นายแดงจึงได้พาแม่ประยูรไปเรียนกับครูบาง ที่ตำบลบางไผ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งครูบางก็ได้สอนการเล่นลำตัดให้จนแม่ประยูรเล่นได้ดี และเริ่มออกแสดงลำตัดเป็นครั้งแรกเมื่อราวปี 2491 ขณะที่มีอายุได้ 15 ปี
           ครั้นอายุประมาณ18ปี แม่ประยูรก็ได้สมัครเข้าเล่นลำตัดกับคณะแม่จำรูญซึ่งเป็นลำตัดที่มี ชื่อเสียงมากในสมัยนั้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งแม่จำรูญก็ได้ช่วยถ่ายทอดเพลงพื้นบ้านและลำตัดให้แม่ประยูรอย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความชำนาญและมีประสบการณ์ยิ่งขึ้น สามารถด้นกลอนสด และแต่งคำร้องได้อย่างเฉียบแหลมคมคาย และได้มีโอกาสออกแสดงเป็นประจำ จนเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
           ในช่วงที่ร่วมคณะลำตัดกับแม่จำรูญนั้นแม่ประยูรก็ได้พบกับ“หวังเต๊ะ”และได้ร่วมประชันลำตัดกันอย่างสม่ำเสมอจน กลายเป็นคู่ประชันลำตัดยอดนิยมสูงสุดจากนั้นก็ได้แต่งงานอยู่กินกันจนมีบุตรด้วยกัน 2 คนก่อนที่จะหย่าขาดจากกันแต่ก็ยังคงแสดงลำตัดร่วมกัน ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
           นอกจากลำตัดแล้ว แม่ประยูรยังมีความสามารถในการแสดงเพลงพื้นบ้านอีกหลายประเภท ได้แก่ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ และเพลงขอทาน เป็นต้น
           คณะหวังเต๊ะ

ภาพที่ 1.9
นายหวังดี นิมาหรือ หวังเต๊ะ

           นายหวังดี นิมา หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนาม หวังเต๊ะ เกิดเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2468 ปัจจุบันพักอาศัย ที่ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี หวังเต๊ะ เป็นศิลปินผู้มีความสามารถเป็นเลิศ ด้านศิลปะเพลงพื้นบ้าน มีความชำนาญเป็นพิเศษในการแสดงลำตัด โดยตั้งชื่อคณะว่า “ลำตัดหวังเต๊ะ” รับงานแสดงเป็นอาชีพมาจนถึงปัจจุบันกว่า 40 ปี จนชื่อหวังเต๊ะแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของลำตัด กล่าว ได้ว่า หวังเต๊ะ เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์และสืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ให้ยืนยงอยู่ได้อย่างน่า
           ภาคภูมิใจยิ่ง หวังเต๊ะเป็นศิลปินที่มีความสามารถรอบตัวมีความเป็นเลิศทั้งด้านปฏิภาณและความคิดในการแสดงเพลงพื้นบ้านสามารถ ด้นกลอนสดและแต่งคำร้องได้อย่างคมคายเหมาะสมกับลีลาและสถานการณ์สร้างความบันเทิงเริงรมย์แก่ผู้ฟังชมชอบตลอดเวลายากจะหาใครเทียบได้ ทั้งในอดีตและปัจจุบันหวังเต๊ะได้แสดงให้มหาชนประจักษ์ถึงอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาและการแสดงได้อย่างเชี่ยวชาญสมกับสุนทรียลักษณ ์ของภาษาไทยที่มีมาแต่โบราณกาล
           นอกจากนั้นหวังเต๊ะยังเป็นศิลปินผู้มีคุณธรรมได้ใช้ศิลปะการแสดงเป็นสัมมาชีพอย่างซื่อสัตย์ตลอดมา ทั้งได้ถ่ายทอดศิลปะวิชาให้แก้ทั้งบุคคลในคณะและสถาบันต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ นับได้ว่า หวังเต๊ะ เป็นศิลปิน ที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ ทั้งด้านสร้างสรรค์และอนุรักษ์ศิลปะ อันเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมไทยมาตลอด ระยะเวลายาวนาน จนได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) ประจำปี 2531

โอกาสที่แสดง
           มักนิยมเล่นในงานมหรสพต่าง ๆ แต่เมื่อมีคนนิยมหรือแพร่หลายออกไปจึงเกิดมีการประชันแข่งขันกันขึ้นแทนที่จะว่าแก้กันในหมู่วงเดียว เดิมทีเดียวใช้ผู้แสดงเป็นชายล้วน ๆ ไม่มีหญิงปนเลยต่อมาในระยะหลังได้มีวิวัฒนาการมีชายหญิงแสดงร่วมกัน

เครื่องแต่งกาย
           แต่งกายแบบไทยพื้นเมือง ผู้หญิงนุ่งจีบหรือโจงกะเบนตามแต่ถนัด ใส่เสื้อรัดรูปแขนสั้น หลากสีสัน ทัดดอกไม้ ผู้ชายนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลมสีต่าง ๆ
ดนตรีที่ใช้ มี กลองรำมะนา กรับ ฉิ่ง

           1.2 การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง
    
       การแสดงพื้นเมืองภาคกลาง เป็นศิลปะการร่ายรำและการละเล่นของชนชาวพื้นบ้านภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรม ศิลปะการแสดงจึงมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและเพื่อความบันเทิงสนุกสนาน เป็นการพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงาน หรือเมื่อเสร็จจากเทศการฤดูเก็บเก็บเกี่ยว เช่น การเล่นเพลงเกี่ยวข้าว เต้นกำรำเคียว รำโทนหรือรำวง รำเถิดเทอง รำกลองยาว เป็นต้น มีการแต่งกายตามวัฒนธรรมของท้องถิ่น และใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้าน เช่น กลองยาว กลองโทน ฉิ่ง ฉาบ กรับ และโหม่ง

           1.2.1 การแสดงเต้นกำรำเคียว

ภาพที่ 1.10 เต้นกำรำเคียว

ประวัติความเป็นมาของการเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว
           การแสดงเต้นกำรำเคียว เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่เก่าแก่แบบหนึ่งของชาวชนบทในภาคกลางของไทย แถบจังหวัดนครสวรรค์ ที่อำเภอพยุหะคีรี ซึ่งแต่เดิมประชาชนส่วนมากยึดอาชีพการทำนาเป็นหลักและด้วยนิสัยรักสนุก ประกอบกับการเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนของไทยด้วย จึงได้เกิดการเต้นกำรำเคียวขึ้น ซึ่งในเนื้อเพลงแต่ละตอนจะสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างชัดเจน ลักษณะการรำไม่อ่อนช้อยเช่นการรำไทยทั่ว ๆ ไป จะถือเอาความสนุกเป็นใหญ่ จะมีทั้ง “เต้น” และ “รำ” ควบคู่กันไป ส่วนมือทั้งสองของผู้รำข้างหนึ่งจะถือเคียว อีกข้างหนึ่งถือต้นข้าวที่เกี่ยวแล้ว จึงได้ชื่อว่า “ เต้นกำรำเคียว”

ลักษณะการแสดง
           จะแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง สำหรับฝ่ายชายเรียกว่า “พ่อเพลง”ฝ่ายหญิงจะเรียกว่า “แม่เพลง” เริ่มด้วยพ่อเพลงร้องชักชวนแม่เพลงให้ออกมาเต้นกำรำเคียวโดยร้องเพลงและเต้นออกไปรำล่อฝ่ายหญิง และแม่เพลงก็ร้องและรำแก้กันไป ซึ่งพ่อเพลงนี้อาจเปลี่ยนไปหลาย ๆ คน ช่วยกันร้องจนกว่าจะจบเพลง ส่วนผู้ที่ไม่ได้เป็นพ่อเพลงแม่ก็ต้องเป็น “ลูกคู่” ปรบมือและร้องเฮ้ เฮ้ว ให้จังหวะ

โอกาสที่แสดง
           การเต้นกำรำเคียวจะเล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว ซึ่งเมื่อถึงฤดูเกี่ยวข้าวชาวนามักมีการเอาแรงกันโดยต่างฝ่ายต่างไปช่วยกันเกี่ยวข้าวจะไม่มีการว่าจ้างกัน ขณะที่มีการเกี่ยวข้าวนั้น เขามักจะมีการร้องเพลงเกี่ยวข้าวกันไปด้วย โดยร้องแก้กันระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง และเมื่อหยุดพักการเกี่ยวข้าว ประมาณตะวันบ่ายคล้อยแล้วการเต้นกำรำเคียวจึงเริ่มเล่น

การแต่งกาย
           ฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงขาก๊วยและเสื้อกุยเฮงสีดำ มีผ้าขาวม้าคาดพุง สวมงอบและไม่สวมรองเท้า ฝ่ายหญิงจะนุ่งโจงกระเบนและเสื้อแขนกระบอกสีดำทั้งชุดเช่นกัน ทัดดอกไม้ที่หูขวาและไม่สวมรองเท้าผู้แสดงทุกคนต้องถือเคียวในมือขวาและถือรวงข้าวในมือซ้ายด้วย

ดนตรีที่ใช้
           ตามแบบฉบับของชาวบ้านเดิม ไม่มีดนตรีประกอบเพียงแต่ลูกคู่ทุกคนจะตบมือและร้องเฮ้ เฮ้วให้จังหวะ แต่เมื่อกรมศิลปากรนำไปดัดแปลง ก็ใช้ระนาดเป็นเสียงดนคตรีประกอบในท่าเดินเข้า – ออก

สถานที่แสดง
           เดิมแสดงกลางแจ้งบริเวณท้องนาที่เกี่ยวข้าวกัน ปัจจุบันมีผู้สนใจการแสดงชนิดนี้มากขึ้นจึงนำมาแสดงบนเวที

จำนวนผู้แสดง
           ชายหญิงจับคู่กันเล่นเป็นคู่ ซึ่งเดิมนั้นไม่จำกัดคู่ผู้เล่น แต่กรมศิลปากรได้จำกัดผู้เล่นเพียง 5 คู่ เพื่อให้ครบทำนองและเนื้อเพลงที่เล่นและไม่เต็มเวที

บทร้องเพลงเต้นกำรำเคียว

เพลงมา
ชาย มากันเถิดนางเอย (กรู้…) เอ๋ยรา แม่มา มารึมา แม่มา (ซ้ำ) มาเถิดแม่นุชน้อง พี่จะ
เป็นฆ้องให้น้อง เป็นปี่ ต้อยตะริดติ๊ดตอด น้ำแห้งน้ำหยอดที่ตรงลิ้นปี่ มาเถิดนะแม่
มามารึมาแม่มา มาเต้นกำย่ำหญ้ากันใน นานี้เอย (ลูกคู่รับท้าย)
หญิง มากันเถิดนายเอย (กรู้…) เอ๋ยรา พ่อมา มารึมาพ่อมา ฝนกระจายปลายนา แล้วน้อง
จะ มาอย่างไรเอย (ลูกคู่รับท้าย)

เพลงไป
ชาย ไปกันเถิดนางเอย (กรู้…) เอ๋ยรา แม่ไป ไปรึไปแม่ไป ไปชมนกกันที่ในป่า ไปชม
พฤกษากันที่ในไพร ไปชม ชะนีผีไพร กันเล่นที่ในดงเอย (ลูกคู่รับท้าย)
หญิง ไปกันเถิดนายเอย(กรู้…) เอ๋ยรา พ่อไป ไปรึไปพ่อไป น้องเดินขยิกจิกไหล่ตามก้น
พี่ชายไปเอย(ลูกคู่ รับท้าย)

เพลงเดิน
ชาย เดินกันเถิดนางเอย(กรู้…) เอ๋ยรา แม่เดิน เดินรึเดิน แม่เดิน ย่างเท้าขึ้นโคกเสียงนก
โพระดกมันร้องเกริ่น( ซ้ำ )จะชวนหมู่น้องไปท้องพะเนิน ชมเล่นให้เพลินใจเอย
(ลูกคู่ รับท้าย)
หญิง เดินกันเถิดนายเอย(กรู้…) เอ๋ยรา พ่อเดิน เดินรึเดิน พ่อเดิน หนทางก็รกระหกระเหิน
แล้วน้องจะเดินอย่างไรเอย(ลูกคู่ รับท้าย)

เพลงรำ
ชาย รำกันเถิดนางเอย(กรู้…) เอ๋ยรา แม่รำ รำรึรำ แม่รำ ใส่เสื้อเนื้อดีแม่ห่มแต่สีดอกขำ
(ซ้ำ) น้อยหรือแน่แม่ช่างรำ แม่เชื้อระบำเก่าเอย(ลูกคู่ รับท้าย)
หญิง รำกันเถิดนายเอย (กรู้…) เอ๋ยรา พ่อรำ รำรึรำ พ่อรำ มหาหงส์ลงต่ำ ต่างคนต่างรำ
ไปเอย

เพลงร่อน
ชาย ร่อนกันเถิดนางเอย(กรู้…) เอ๋ยรา แม่ร่อน ร่อนรึร่อน แม่ร่อน ( ชะฉ่า ชะฉ่า
ชา ชา ๆ ๆ ) ร่อนหรือร่อนแม่ร่อน รูปร่างเหมือนนางระบำ แม่เอ๋ยช่างรำ แม่คุณช่าง
ร่อน(ซ้ำ…รูปร่าง) อ้อนแอ้นแขนอ่อนรูปร่างเหมือนมอญรำเอย(ลูกคู่ รับท้าย)
หญิง ร่อนกันเถิดนายเอย (กรู้…) เอ๋ยรา พ่อร่อน ร่อนรึร่อน พ่อร่อน สีนวลอ่อนอ่อนร่อน
แต่ลมบนเอย(ลูกคู่ รับท้าย)

เพลงบิน
ชาย บินกันเถิดนางเอย (กรู้…) เอ๋ยรา แม่บิน บินรึบิน แม่บิน สองตีนกระทืบดินใคร
เลยจะบินไปได้อย่างเจ้า (ซ้ำ…สองตีน) ใส่งอบขาว ๆ รำกันงามเอย (ลูกคู่ รับท้าย)
หญิง บินกันเถิดนายเอย (กรู้…) เอ๋ยรา พ่อบิน บินรึบิน พ่อบิน มหาหงส์ทรงศีลบินไป
ตามลมเอย(ลูกคู่ รับท้าย)

เพลงยัก
ชาย ยักกันเถิดนางเอย (กรู้…) เอ๋ยรา แม่ยัก ยักรึยัก แม่ยัก ( เอาวา โจ๊ะ ติง ติงทั่ง ติง
ติง ๆ ๆ วัวขี่ควาย กระต่ายขี่ลิง) ยักรึยัก แม่ยัก ยักตื้นติดกึก เอาละว่ายักลึกติดกัก
ยักตื้นยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก หงส์ทองน้องรักยักให้หมดวงเอย (ลูกคู่ รับท้าย)
หญิง ยักกันเถิดนายเอย (กรู้…) เอ๋ยรา พ่อยัก ยักรึยัก พ่อยัก อย่าเข้ามาใกล้น้องนักจะโดนเคียวควักตาเอย (ลูกคู่ รับท้าย)

เพลงย่อง
ชาย ย่องกันเถิดนางเอย (กรู้…) เอ๋ยรา แม่ย่อง ย่องรึย่อง แม่ย่อง บุกดงอะไร แกรก
แกรกสองมือก็แหวกนัยน์ตาก็มอง บุกดงอะไร แกรก แกรกสองมือก็แหวกนัยน์ตาก็
มองพบฝูงอีก้อง พวกเราก็ย่องยิงเอย (ลูกคู่ รับท้าย)
หญิง ย่องกันเถิดนายเอย (กรู้…) เอ๋ยรา พ่อย่อง ย่องรึย่อง พ่อย่อง ฝูงละมั่งกวางทองย่อง
มากินถั่วเอย (ลูกคู่ รับท้าย)

เพลงย่าง
ชาย ย่างกันเถิดนางเอย (กรู้…) เอ๋ยรา แม่ย่าง ย่างรึย่าง แม่ย่าง ย่างเถิด ย่างเถิด แม่ย่างย่าง
รึย่างแม่ย่าง เจอะเสือพี่ก็จะยิง เจอะกระทิงพี่ก็จะย่าง เจอะเสือพี่ก็จะยิง เจอะกระทิง
พี่ก็จะย่าง ไม่ว่าเนื้อเสือเนื้อช้างย่างมาฝากน้อยเอย (ลูกคู่ รับท้าย)
หญิง ย่างกันเถิดนายเอย (กรู้…) เอ๋ยรา พ่อย่าง ย่างรึย่าง พ่อย่าง ไม่ว่าเนื้อเสือเนื้อช้างย่างไปฝากเมียเอย (ลูกคู่ รับท้าย)

เพลงแถ
ชาย แถกันเถิดนางเอย (กรู้…) เอ๋ยรา แม่แถ แถรึแถ แม่แถ จะลงที่หนองไหน พี่จะไปหนองนั้นแน่ (ซ้ำ..จะลง) นกกระสา ปลากระแห แถให้ติดดินเอย (ลูกคู่ รับท้าย)
หญิง แถกันเถิดนายเอย (กรู้…) เอ๋ยรา พ่อแถ แถรึแถ พ่อแถ นกกระสา ปลากระแห
แถมาลงหนองเอย (ลูกคู่ รับท้าย)

เพลงถอง
ชาย ถองกันเถิดนางเอย (กรู้…) เอ๋ยรา แม่ถอง ถองรึถอง แม่ถอง ถองเถิดถองเถิด
แม่ถอง ถองรึถอง แม่ถอง ค่อยขยับจับจ้อง ถองให้ถูกนางเอย (ลูกคู่ รับท้าย)
หญิง ถองกันเถิดนายเอย (กรู้…) เอ๋ยรา พ่อถอง ถองรึถอง พ่อถอง (ชะฉ่า ชะฉ่า
ชา ชา ๆ ๆ) ถองรึถอง พ่อถอง กล้าดีก็เข้ามาลอง จะโดนกระบองตีเอย (ลูกคู่ รับท้าย)

           1.2.2 รำเหย่อย

ภาพที่ 1.11 รำเหย่อย

ประวัติความเป็นมา
           รำเหย่อย เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งของไทยที่นิยมเล่นกันในบางหมู่บ้าน บางท้องถิ่นของภาคกลางนอกตัวจังหวัดเท่านั้น ไม่สู้จะแพร่หลายนัก การละเล่นประเภทนี้ดูแทบจะสูญหายไป กรมศิลปากรได้พิจารณาเห็นว่าการเล่นรำเหย่อยมีแบบแผนการเล่นที่น่าดูมาก ควรรักษาให้ดำรงอยู่และแพร่หลายยิ่งขึ้น จึงได้จัดส่งคณะนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรไปรับการฝึกหัดและถ่ายทอดการละเล่นเพลงเหย่อยไว้จากชาวบ้านที่หมู่บ้านเก่า ตำบลจระเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2506 แล้วนำออกแสดงเป็นครั้งแรกในโอกาสที่รัฐบาลจัดการแสดงถวายสมเด็จพระรามาธิบดีแห่งมาเลเซีย ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2507
           คำร้องแต่งขึ้นตามแบบแผนของการรำเหย่อยใช้ถ่อยคำพื้น ๆ ร้องโต้ตอบกันด้วยกลอนสด เป็นการร้องเกี้ยวกันระหว่างชายหญิงมุ่งความสนุกเป็นส่วนใหญ่รำเหย่อยนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พาดผ้า”

ลักษณะการแสดง
           ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่นยิ่งมากยิ่งสนุกสนาน โดยแบ่งผู้เล่นออกเป็นฝ่ายชายกับหญิงแต่ละฝ่ายจะมีผู้ร้อง ซึ่งจะประกอบด้วยพ่อเพลง แม่เพลง ลูกคู่ และผู้รำ เริ่มจากการประโคมกลองอย่างกึกก้องเพื่อให้ผู้เล่น และผู้ดูเกิดความรู้สึก สนุกสนานจากนั้นจังหวะก็เริ่มช้าลง เมื่อเริ่มเล่นฝ่ายชายก็จะออกมาร้อง และรำ แล้วเอาผ้าไปคล้องไหล่ให้ฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงเมื่อถูกคล้องผ้าก็จะออกมารำ

โอกาสที่แสดง
           จะนิยมเล่นในเทศกาลวันตรุษสงกรานต์ งานนักขัตฤกษ์ งานมงคลและงานรื่นเริงของชาวบ้าน โดยเฉพาะในเขตอำเภอพนมทวนเช่น บ้านทวน บ้านห้วยสะพาน บ้านทุ่งสมอ บ้านหนองปลิง บางครั้งก็จะเป็นการเล่นประกอบการเล่นพื้นเมืองอื่น ๆ เช่น การเล่นลูกช่วงรำ ลุกช่วงขี้ข้า หรือประกอบการเล่นเหยี่ยวเฉี่ยวลูกไก่

การแต่งกาย
           ผู้แสดงแต่งกายแบบพื้นบ้านภาคกลาง ชายนุ่งผ้าโจงกระเบนต่าง ๆ สีกัน สวมเสื้อคอกลมแขนสั้นเหนือศอก มีผ้าคาดเอวและพาดไหล่ หญิงนุ่งผ้าพิมพ์ลายโจงกระเบนหลากสีกัน สวมเสื้อคอกลมแขนยาว ห่มสไบทับเสื้อ มีเครื่องประดับ มีเครื่องประดับ เข็มขัด สร้อยคอ สร้อยข้อมือ

ดนตรีที่ใช้
           กลองยาว ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ปี่ รำมะนา กระบอกไม้ไผ่

สถานที่แสดง
           แสดงในบริเวณพื้นลานกว้าง ๆหรือนำมาแสดงบนเวที

จำนวนผู้แสดง
           ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น

เนื้อร้องเพลงรำเหย่อย
ชาย มาเถิดหนาแม่มา มาเล่นพาดผ้ากันเอย
พี่ตั้งวงไว้ท่า อย่านิ่งรอช้าเลยเอย
พี่ตั้งวงไว้คอย อย่าให้วงกร่อยเลยเอย
หญิง ให้พี่ยื่นแขนขวา เข้ามาพาดผ้าเถิดเอย
ชาย พาดเอยพาดลง พาดที่องค์น้องเอย
หญิง มาเถิดพวกเรา ไปรำกับเขาหน่อยเอย
ชาย สวยเอยแม่คุณอย่าช้า รีบรำออกมาเถิดเอย
หญิง รำร่ายกรายวง สวยดังหงส์ทองเอย
ชาย รำเอยรำร่อน สวยดังกินนรนางเอย
หญิง รำเอยรำคู่ น่าเอ็นดูจริงเอย
ชาย เจ้าเคียวใบข้าว พี่รักเจ้าสาวจริงเอย
หญิง เจ้าเคียวใบพวง อย่ามาเป็นห่วงเลยเอย
ชาย รักน้องจริง รักแล้วไม่ทิ้งไปเลย
หญิง รักน้องไม่จริง รักแล้วก็ทิ้งไปเอย
ชาย พี่แบกรักมาเต็มอก รักจะตกเสียแล้วเอย
หญิง ผู้ชายหลายใจ เชื่อไม่ได้เลยเอย
ชาย พี่แบกรักมาเต็มร้า ช่างไม่เมตตาเสียเลยเอย
หญิง เมียมีอยู่เต็มตัก จะให้น้องรักอย่างไรเอย
ชาย สวยเอยคนดี เมียพี่มีเมื่อไรเอย
หญิง เมียมีอยู่ที่บ้าน จะทิ้งทอดทานให้ใครเอย
ชาย ถ้าฉีกได้เหมือนปู จะฉีกให้ดูใจเอย
หญิง รักจริงแล้วหนอ รีบไปสู่ขอน้องเอย
ชาย ขอก็ได้ สินสอดเท่าไรน้องเอย
หญิง หมากลูกพลูจีบ ให้พี่รีบไปขอเอย
ชาย ข้าวยากหมากแพง เห็นสุดแรงน้องเอย
หญิง หมากลูกพลูครึ่ง รีบไปให้ถึงเถิดเอย
ชาย รักกันหนาพากันหนี เห็นจะดีกว่าเอย
หญิง แม่สอนเอาไว้ ไม่เชื่อคำชายเลยเอย
ชาย แม่สอนเอาไว้ หนีตามกันไปเถิดเอย
หญิง พ่อสอนไว้ว่า ให้กลับพาราแล้วเอย
ชาย พ่อสอนไว้ว่า ให้กลับพาราพี่เอย
หญิง กำเกวียนกำกง จะต้องจบวงแล้วเอย
ชาย กรรมเอยวิบาก วันนี้ต้องจากแล้วเอย
หญิง เวลาก็จวน น้องจะรีบด่วนไปก่อนเอย
ชาย เราร่วมอวยพร ก่อนจะลาจรไปก่อนเอย
พร้อมกัน ให้หมดทุกข์โศกโรคภัย สวัสดีมีชัยทุกคนเอย

           1.2.3 กลองยาวเถิดเทิง

ภาพที่ 1.12 รำกลองยาวเถิดเทิง

ประวัติความเป็นมา
           การเล่นเถิดเทิง มีผู้สันนิษฐานว่าเป็นของพม่านิยมเล่นกันมาก่อน เมื่อครั้งพม่ามาทำสงครามกับไทย ในสมัยกรุงธนบุรี หรือสมัยต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เวลาพักรบพวกทหารพม่าก็เล่นสนุกสนานด้วยการเล่น ต่าง ๆ ซึ่งทหารพม่าบางพวกก็เล่น “กลองยาว” พวกไทยเราได้เห็นก็จำมาเล่นกันบ้าง ยังมีเพลงดนตรีเพลงหนึ่งซึ่งดนตรีไทยนำมาใช้บรรเลง มีทำนองเป็นเพลงพม่า เรียกกันมาแต่เดิมว่า เพลงพม่ากลองยาว ต่อมาได้มีผู้ปรับเป็นเพลงระบำ กำหนดให้ผู้รำแต่งตัวใส่เสื้อนุ่งโสร่งตา ศีรษะโพกผ้าสีชมพู (หรือสีอื่น ๆ บ้างตามแต่จะให้สีสลับกัน เห็นสวยอย่างแบบระบำ)มือถือขวานออกมาร่ายรำเข้ากับจังหวะเพลงที่กล่าวนี้ จึงเรียกเพลงนี้กันอีกชื่อหนึ่งว่า เพลงพม่ารำขวาน
           อีกความหนึ่งมีผู้กล่าวว่า การเล่นเทิงบ้องกลองยาวนี้ เพิ่งมีเข้ามาในเมืองไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 กรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง กล่าวคือ มีพม่าพวกหนึ่งนำเข้ามาในรัชกาลนั้น ยังมีบทร้องกราวรำยกทัพพม่า ในการแสดงละครเรื่องพระอภัยมณี ตอน เก้าทัพ ซึ่งนิยมเล่นกันมาแต่ก่อน สังเกตดูก็เป็นตำนานอยู่บ้างแล้ว คือ ร้องกันว่า
           ทุงเล ฯ ทีนี้จะเห่พม่าใหม่
           ตกมาเมืองไทย มาเป็นผู้ใหญ่ตีกลองยาว
           ตีว่องตีไวตีได้จังหวะ ทีนี้จะกะเป็นเพลงกราว
           เลื่องชื่อลือฉาว ตีกลองยาวสลัดได ๆ
           เมื่อชาวไทยเราเห็นเป็นการละเล่นที่สนุกสนานและเล่นได้ง่าย ก็เลยนิยมเล่นกันแพร่หลายไปแทบทุกหัวบ้านหัวเมือง สืบมาจนตราบทุกวันนี้ กลองยาวที่เล่นกันในวงหนึ่ง ๆ มีเล่นกันหลายลูกมีสายสะพายเฉวียงป่าของผู้ตี ลักษณะรูปร่างของกลองยาวขึงหนังด้านเดียวอีกข้างหนึ่งเป็นหางยาว บานปลายเหมือนกับกลองยาวของชาวเชียงใหม่ แต่กลองยาวของชาวเชียงใหม่เป็นกลองยาวจริง ๆ ยาวถึงประมาณ 2 วา ส่วนกลองยาวอย่างที่เล่นกันนี้ ยาวเพียงประมาณ 3 ศอกเท่านั้น ซึ่งสั้นกว่าของเชียงใหม่มาก ทางภาคอีสานเรียกกลองยาวชนิดนี้ว่า กลองหาง
           กลองยาวแบบนนี้ของพม่าเรียกว่า โอสิ มีลักษณะคล้ายคลึงกับของชาวไทยอาหมในแคว้นอัสสัม เว้นแต่ของชาวไทยอาหมรูปร่างคล้ายตะโพน คือ หัวท้ายเล็ก กลางป่องใบเล็กกว่าตะโพน ขึ้นหนังทั้งสองข้าง ผูกสายสะพายตีได้ ตามที่เห็นวิธีเล่นทั้งกลองยาวของพม่าและกลองของชาวไทยอาหม ดูวิธีการเล่นเป็นแบบเดียวกัน อาจเลียนแบบการเล่นไปจากกันก็ได้
           เมื่อรัฐบาลไทยมอบให้คณะนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรไปแสดงเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี ณ นครย่างกุ้งและมัณฑเลย์ ระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน พ.ศ.2509 ทางรัฐบาลพม่าได้จัดนักโบราณคดีพม่าผู้หนึ่งเป็นผู้นำชมพิพิธภัณฑ์สถานและโบราณสถานเรื่องกลองยาวได้กล่าวว่า พม่าได้กลองยาวมาจากไทยใหญ่อีกต่อหนึ่ง
           การละเล่นประเภทนี้ว่า เถิดเทิง เทิงบ้องนั้น คงเรียกตามเสียงกลองยาว กล่าวคือ มีเสียงเมื่อเริ่มตีเป็นจังหวะ หูคนไทยได้ยินเป็นว่า “เถิด-เทิง-บ้อง-เทิง-บ้อง” ก็เลยเรียกตามเสียงที่ได้ยินว่าเถิดเทิง หรือเทิงบ้องกลองยาวตามกันไป เพื่อให้ต่างกับการเล่นอย่างอื่น

ลักษณะการแสดง
           ก่อนเล่นมีการทำพิธีไหว้ครู มีดอกไม้ธูปเทียน เหล้าขาว บุหรี่และเงินค่ายกครู 12 บาท การไหว้ครูใช้การขับเสภา เมื่อไหว้ครูแล้วจะโห่ขึ้น 3 ลา แล้วเริ่มแสดง โดยนักดนตรีประกอบเริ่มบรรเลงผู้ร่ายรำก็จะเดินและร่ายรำไปตามจังหวะกลอง มีท่าร่ายรำทั้งหมด 33 ท่า ท่าที่หวาดเสียวและตื่นเต้นมากที่สุดก็เห็นจะเป็นท่าที่ 30 – 31 คือท่าที่มีการต่อกลองขึ้นไป 3 ใบ ให้ผู้แสดงคนหนึ่งขึ้นไปยืนบนกลองใบที่ 3 แล้วควงกลอง และคาบกลอง ซึ่งผู้แสดงต้องใช้ความสามารพิเศษเฉพาะตัว ผู้ตีกลองยาวบางพวกก็ตีหกหัวกัน แลบลิ้นปลิ้นตา กลอกหน้ายักคิ้ว ยักคอไปพลาง และถ้าผู้ตีคนใดตีได้จนถึงกับถองหน้ากลองด้วยศอก โขกด้วยคาง กระทุ้งด้วยเข่า โหม่งด้วยเข่า โหม่งด้วยหัว เล่นเอาผู้ตีคลุกฝุ่นคลุกดินขะมุกขะมอมไปทั้งตัวสุดแต่จะให้เสียงกลองยาวดังขึ้นได้เป็นสนุกมาก และนิยมกันว่าผู้ตีกลองยาวเก่งมากผู้เล่นก็ภูมิใจ นอกจากนั้นก็มีคนรำแต่งตัวต่าง ๆ สุดแต่สมัครใจ คนดูคนใดรู้สึกสนุกจะเข้าไปร่วมรำด้วยก็ได้เพราะเป็นการเล่นอย่างชาวบ้าน ใครจะสมัครเข้าร่วมเล่นร่วมรำด้วยก็ได้ บางคนก็แต่งตัวพิสดาร ผัดหน้าทาตัวด้วยแป้งด้วยเขม่าดินหม้อ หน้าตาเนื้อตัวดำด่าง สุดแต่จะให้คนดูรู้สึกทึ่งและขบขัน ออกมารำเข้ากับจังหวะเทิงบ้อง แต่ที่แต่งตัวงาม ๆ เล่นและรำกันเรียบ ๆ น่าดูก็มี เช่นที่ปรับปรุงขึ้นเล่นโดยศิลปินของกรมศิลปากร และมีผู้นำแบบอย่างไปเล่นแพร่หลายอยู่ในสมัยนี้
           เพราะฉะนั้นการเล่น ย่อมเป็นส่วนของวัฒนธรรมที่แสดงออกมา จะเป็นวัฒนธรรมอยู่ในระดับใดก็แล้วแต่สถานที่และโอกาสเหมาะกับถิ่นหนึ่งแต่ไม่เหมาะกับอีกถิ่นหนึ่งก็ได้ ถ้าปรับให้มีลักษณะเหมือนกันตลอดทุกถิ่น ก็ไม่เป็นความเจริญในทางวัฒนธรรม ความเจริญของวัฒนธรรมอยู่ที่แปลก ๆ ต่าง ๆ กัน แต่ว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในส่วนรวม และรู้จักดัดแปลงแก้ไขให้เหมาหะกับความเป็นอยู่ของแต่ละท้องถิ่นตามกาลสมัย แต่ไม่ทำลายลักษณะอันเป็นเอกเทศของแต่ละถิ่นให้สูญไป เปรียบเหมือนเป็นคนไทยด้วยกัน

โอกาสที่แสดง
           ประเพณีเล่น “เถิดเทิง”หรือ “เทิงบ้องกลองยาว” ในเมืองไทยนั้น มักนิยมเล่นกันในงานตรุษ งานสงกรานต์ หรือในงานแห่งแหน ซึ่งต้องเดินเคลื่อนขบวน เช่น ในงานแห่นาค แห่พระ และแห่กฐิน เป็นต้น เคลื่อนไปกับขบวน พอถึงที่ตรงไหนเห็นว่ามีลานกว้างหรือเป็นที่เหมาะก็หยุดตั้งวงเล่นรำกันเสียพักหนึ่ง แล้วก็เคลื่อนขบวนต่อไปใหม่แล้วก็มาหยุดตั้งวงเล่นและรำกันอีก การเล่นเถิดเทิงของกรมศิลปากรปรับปรุงใหม่ จะแต่งตัวแบบไทย ๆ แต่ยังเป็นประเพณีดั้งเดิม คือยังใช้โพกหัวด้วยผ้าแพรบาง ๆ ตามแบบพม่าอยู่ นอกจากนี้ ก็เพิ่มผู้รำฝ่ายหญิงแต่งตัวงดงามแบบหญิงไทย กำหนดแบบแผนลีลาท่ารำ โดยกำหนดให้มีกลองรำ กลองยืน เป็นต้น
กลองรำ หมายถึง ผู้ที่จะแสดงลวดลายในการตีบทพลิกแพลงต่าง ๆ เช่น ถองหน้า กลองด้วยศอก กระทุ้งด้วยเข่า เป็นต้น
           กลองยืน หมายถึง ผู้ตีกลองยืนจังหวะให้การแสดงดำเนินไปอย่างเรียบร้อย ในขณะที่กลองรำวาดลวดลายรำต้อนนางรำอยู่ไปมา
           การเล่นเถิดเทิงแบบนี้มีมาตรฐานตายตัว ผู้เล่นทั้งหมดต้องได้รับการฝึกฝนมาก่อนถึงจะแสดงได้เป็นระเบียบและน่าดู คนดูจะได้เห็นความงามและได้รับความสนุกสนานแม้จะไม่ได้ร่วมวงเล่นด้วยก็ตาม

การแต่งกาย
           ในสมัยปัจจุบันกรมศิลปากรได้ปรับปรุงการแต่งกายและกำหนดไว้เป็นแบบฉบับ คือ
           1. ชาย นุ่งกางเกงขายาวครึ่งแข้ง สวมเสื้อคอกลม แขนสั้น เหนือศอก มีผ้าโพกศีรษะและผ้าคาดเอว
           2. หญิง นุ่งผ้าซิ่นมีเชิงยาวกรอมเท้า สวมเสื้อแขนกระบอกคอปิด ผ่าอกหน้า ห่มสไบทับเสื้อ สวมสร้อยตัวคาดเข็มขัดทับนอกเสื้อ สร้อยคอ และต่างหู ปล่อยผมทัดดอกไม้ด้านซ้าย

ดนตรีที่ใช้
           เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการเล่นก็มีกลองยาว ( เล่นกันหลาย ๆ ลูกก็ได้) เครื่องประกอบจังหวะ มี ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง มีประมาณ 4 คน คนตีกลองยืน 2 คน คนตีกลองรำ 2 คน และหญิงที่รำล่ออีก 2 คน

สถานที่แสดง
           แสดงในบริเวณพื้นลานกว้าง ๆ หรือบนเวที

จำนวนผู้แสดง
    
       จำนวนผู้แสดงจะมีเป็นชุดราว 10 คน เป็นอย่างน้อยมีผู้บรรเลงดนตรี 4 คน คนตีกลองยืน 2 คน คนตีกลองรำ 2 คน และหญิงที่รำล่ออีก 2 คน

           เวลาแสดงพวกตีเครื่องประกอบจังจะทำหน้าร้องประกอบเร่งเร้าอารมณ์ให้สนุกสนานไปในขณะตีด้วย คำที่ใช้ร้องเดิมมีหลายอย่าง แต่ที่ใช้ร้องขณะนี้มีอยู่ไม่กี่อย่าง

ขอยกตัวอย่างบทร้องมาให้ดูดังนี้

  1. มาแล้วโหวย มาแล้ววา มาแต่ของเขา ของเราไม่มา ตะละล้า หรือมาแล้วโหวย มาแล้ววา มาแต่ป่า รอยตีนโตโต
  2. ต้อนเข้าไว้ ต้อนเข้าไว้ เอาไปบ้านเรา บ้านเราคนจนไม่มีคนหุงข้าว ตะละล้า หรือต้อนเข้าไว้ ต้อนเข้าไว้ เอาไปบ้านเรา พ่อก็แก่แม่ก็เฒ่า เอาไปหุงข้าวให้พวกเรากิน ตะละล้า
  3. ใครมีมะกรูด มาแลกมะนาว ใครมีลูกสาว มาแลกลูกเขย เอาวะ เอาเหวย ลูกเขยกลองยาว ตะละล้า

           แต่เนื่องจากคนไทยเรามีนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอนจึงมักย้ายถ่ายเทการร้องให้แปลกออกไปหรือให้พิลึกพิลั่นเล่นตามอารมณ์ เช่น
           “ใครมีมะกรูด มาแลกมะนาว” แล้วแทนที่จะร้องแบบเดิมก็ร้องกลับไปมาว่า
           “ใครมีมะนาว มาแลกมะกรูด” แล้วย้ำว่า “มะกรูด ๆ ๆ ๆ มะนาว ๆ ๆ ๆ” ดังนี้ เป็นต้น