นาฏศิลป์ภาคเหนือ

สร้างโดย : นางสาวจันทกานต์ มงคลพลสิทธิ์
สร้างเมื่อ จันทร์, 01/11/2010 – 14:00
มีผู้อ่าน 382,029 ครั้ง (25/10/2022)
ที่มา : http://www.thaigoodview.com/node/81888

นาฏศิลป์พื้นเมืองภาคเหนือ

        ภาคนี้มีการแสดงหรือการร่ายรำที่มีจังหวะช้า ท่าหยาบนุ่มนวล เพราะมีอากาศเย็นสบาย ทำให้จิตใจของผู้คนมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ภาษาพูดก็นุ่มนวลไปด้วย เพลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ผู้คนไม่ต้องรีบร้อนในการทำมาหากิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์ของภาคเหนือ

        นาฏศิลป์ของภาคเหนือเช่น ฟ้อนเมือง(ฟ้อนเล็บ ฟ้อนก๋ายลาย)ฟ้อนเทียน ฟ้อนจ้อง ฟ้อนวี ฟ้อนขันดอก ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง)ตีกลองสะบัดไชย ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนน้อยไจยา ฟ้อนหริภุญชัย ฟ้อนล่องน่าน ฟ้อนแง้น เป็นต้น นอกจากนี้ นาฏศิลป์ของภาคเหนือยังได้รับอิทธิพลจากประเทศใกล้เคียง ได้แก่ พม่า ลาว จีน และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ เงี้ยว ชาวไทยภูเขา ยอง เป็นต้น

        ดังนั้น นาฏศิลป์พื้นเมืองของภาคเหนือนอกจากมีของที่เป็น “คนเมือง” แท้ๆ แล้วยังมีนาฏศิลป์ที่ผสมกลมกลืนกับชนชาติต่างๆ และของชนเผ่าต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น อิทธิพลจากพม่า เช่น ฟ้อนกำเบ้อ ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา นาฏศิลป์ของชนเผ่าต่างๆ เช่น ฟ้อนนก (กิงกาหล่า – ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว (เงี้ยว) ระบำซอ ระบำเก็บใบชา(ชาวไทยภูเขา) ฟ้อนไต ฟ้อนไตอ่างขาง ฟ้อนนกยูง เป็นต้น

 ฟ้อนเทียน

ที่มาของภาพ   : หนังสือวิพิธทัศนา,สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒,๕๒)

        ฟ้อนเทียน   เป็นการฟ้อนที่มีลักษณะศิลปะที่อ่อนช้อยงดงาม   ลักษณะการแสดงไม่ต่างจากการแสดงฟ้อนเล็บ  ถ้าเป็นการแสดงฟ้อนเทียน  นิยมแสดงในเวลากลางคืนเพื่อเน้นความสวยงามของแสงเทียนระยิบระยับสว่างไสว จุดเด่นของการแสดงชนิดนี้ จึงอยู่ที่แสงเทียนที่ผู้แสดงถือในมือข้างละ ๑ เล่ม   เข้าใจว่าการฟ้อนเทียนนี้แต่เดิมคงจะใช้เป็นการแสดงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการสักการะเทพเจ้าที่เคารพนับถือในงานพระราชพิธีหลวง ตามแบบฉบับล้านนาของทางภาคเหนือของไทย   ผู้ฟ้อนมักใช้เจ้านายเชื้อพระวงศ์ฝ่ายในทั้งสิ้น ในสมัยปัจจุบันการแสดงชุดนี้จึงไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนักจะสังเกตเห็นว่าความสวยงามของการฟ้อนอยู่ที่การบิดข้อมือที่ถือเทียนอยู่  แสงวับๆ แวมๆ จากแสงเทียนจึงเคลื่อนไหวไปกับความอ่อนช้อยลีลา และลักษณะของเพลงที่ใช้บรรเลงประกอบนับเป็นศิลปะที่น่าดูอย่างยิ่งแบบหนึ่ง 

  • ผู้แสดง หญิงล้วน ใช้รำเป็นคู่  จะเป็น คู่ ๑ คู่ ๒ คู่ ๓ คู่ ๔ คู่  หรือมากกว่านี้ก็ได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโอกาสและสถานที่
  • เครื่องดนตรี  ได้แก่  กลองแอว  ปี่  แน  ฉาบใหญ่  ฆ้องวงใหญ่  และตะหลดปด
  • การแต่งกาย ใช้ผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วน นิยมแสดงหมู่คราวละหลายคน โดยจำนวนคนเป็นเลขคู่ เช่น ๘ หรือ ๑๐ คน    แล้วแต่ความยิ่งใหญ่ของงานนั้น   และความจำกัดของสถานที่  โดยผู้แสดงแต่งกายแบบฟ้อนเล็บ คือ การสวมเสื้อแขนกระบอก นุ่งซิ่นมีเชิงกรอมเท้า มุ่นผมมวย มีอุบะห้อยข้างศีรษะ ในมือเป็นสัญลักษณ์  คือ  ถือเทียน ๑ เล่ม   การแต่งกายของฟ้อนเทียนนี้  ปัจจุบันแต่งได้อีกหลายแบบ  คืออาจสวมเสื้อในรัดอก ใส่เสื้อลูกไม้ทับแต่อย่างอื่นคงเดิม  และอีกแบบคือสวมเสื้อรัดอก  แต่มีผ้าสไบเป็นผ้าทอลายพาดไหล่อย่างสวยงาม  แต่ยังคงนุ่งซิ่นกรอมเท้าและมุ่นผมมวย  มีอุบะห้อยศีรษะ  
  • โอกาสที่แสดง   ในงานพระราชพิธี   หรือวันสำคัญทางศาสนา  ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองชาวต่างชาติ   และในงานประเพณีสำคัญตามแบบฉบับของชาวล้านนา    

ฟ้อนเงี้ยว

ที่มาของภาพ  :  หนังสือวิพิธทัศนา,  สถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ (๒๕๔๒, ๔๖)

        ฟ้อนเงี้ยว  เป็นการฟ้อนที่ได้รับอิทธิพลมาจากการฟ้อนของเงี้ยวหรือไทยใหญ่  ประกอบด้วย  ช่างฟ้อนหญิงชายหลายคู่  แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองไทยใหญ่  การฟ้อนเงี้ยวเหมาะสำหรับผู้ชาย แต่ต่อมาเพื่อให้เกิดความสวยงาม   จึงมีการใช้ผู้หญิงล้วน   หรือใช้ทั้งชายและหญิงแสดงเป็นคู่ๆ  มีลีลาการฟ้อนที่แปลกแตกต่างไปจากฟ้อนเล็บ  ฟ้อนเทียน 

  • การแต่งกาย  จะเลียนแบบการแต่งกายของชาวไทยใหญ่ โดยมีการดัดแปลงเครื่องแต่งกายออกไปบ้าง   โดยใส่เสื้อคอกลมแขนกระบอก  นุ่งโสร่งสั้นเพียงเข่า  หรือกางเกงขากว้างๆ   หรือบ้างก็นุ่งโสร่งเป็นแบบโจงกระเบนก็มี ใช้ผ้าโพกศีรษะ มีผ้าคาดเอว ใส่เครื่องประดับ เช่น กำไลมือ กำไลเท้า  สร้อยคอ และใส่ตุ้มหู
  • โอกาสที่ใช้แสดง  แสดงในงานรื่นเริงทั่วไป

กลองสะบัดชัย

        กลองสะบัดชัย  เป็นกลองพื้นเมืองเหนือที่มีประเพณีนิยมการสร้างกลองประจำเมือง  เรียกว่า “กลองอุ่นเมือง” เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้าน

ฟ้อนเล็บ

ที่มาของภาพ  :  อัษฎา  จรัญชล

       ฟ้อนเล็บ  เป็นการฟ้อนชนิดหนึ่งของชาวไทยในภาคเหนือ   ผู้ฟ้อนจะสวมเล็บยาว  ลีลาท่ารำของฟ้อนเล็บคล้ายกับฟ้อนเทียน  ต่างกันที่ฟ้อนเทียนมือทั้งสองถือเทียน  ตามแบบฉบับของการฟ้อน นางลมุล   ยมะคุปต์     ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย    ได้นำลีลาท่าฟ้อนอันเป็นแบบแผนมาจากคุ้มเจ้าหลวงมาฝึกสอน  จัดเป็นชุดการแสดงที่น่าชมอีกชุดหนึ่ง

  • การแต่งกาย    นิยมใช้ผู้แสดงเป็นผู้หญิงล้วนๆ  นุ่งซิ่นมีเชิงที่ชายผ้า  สวมเสื้อแขนกระบอก    มีสไบเจียรบาดพาดไหล่ห่มทับเสื้อ  ผู้แสดงแต่งหน้าสดสวย  ยังมีการเกล้าผมมุ่นมวยแล้วใช้ดอกไม้ห้อยเป็นอุบะระย้าข้างศีรษะ
  • ท่ารำ    มีการแบ่งท่ารำออกเป็น ๔ ชุด  คือ
    • ชุดที่  ๑ประกอบด้วยท่า จีบหลัง (ยูงฟ้อนหาง) บังพระสุริยา วันทา บัวบาน กังหันร่อน
    • ชุดที่  ๒ประกอบด้วยท่า  จีบหลัง  ตระเวนเวหา  รำกระบี่สี่ท่า  พระรถโยนสาร ผาลาเพียงไหล่   บัวชูฝัก     กังหันร่อน
    • ชุดที่  ๓  ประกอบด้วยท่า จีบหลัง พรหมสี่หน้า  พิสมัยเรียงหมอน  กังหันร่อน
    • ชุดที่  ๔ ประกอบด้วยท่า จีบหลัง  พรหมสี่หน้า  พิสมัยเรียงหมอนแปลง  ตากปีก
  • โอกาสที่ใช้   ใช้แสดงในวันสำคัญ  เช่น ต้อนรับแขกเมืองต่างชาติ  หรือในงานประเพณี 

หมากกั๊บแก๊บลำเพลิน

(ที่มาของภาพ : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=banrakthai&group=9)

        การเล่นหมากกั๊บแก๊บ เป็นการเล่นที่ไม่มีขนบตายตัว สุดแท้แต่ผู้แสดงจะมีความสามารถ แสดงออกลีลา ท่าทางที่โลดโผน เป็นที่ประทับใจสาว ๆ ได้มากน้อยเพียงใด ถ้าเล่นกันเป็นคู่ ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นฝ่ายรุก อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรับ แล้วผลัดเปลี่ยนกันไป ตามแต่โอกาสและปฏิภาณไหวพริบของผู้เล่น โดยอาจารย์ชุมเดช เดชภิมล แห่งวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด เป็นผู้ผสมผสานการเล่นหมากกั๊บแก๊บ เข้ากับการเล่นลำเพลินของชาวอีสาน ที่ยังคงลีลาการเล่นหมากกั๊บแก๊บและลีลาของการฟ้อนลำเพลินได้อย่างสมบูรณ์แบบ
        จุดเด่นของการแสดงอยู่ที่จังหวะ ลีลาและท่วงทำนอง ของดนตรี อันสนุกสนานเร้าใจ

ฟ้อนผู้ไท(ภูไท)

(ที่มาของภาพ : http://www.bloggang.com/data/banrakthai/picture/1221630904.jpg)

        เป็นฟ้อนผู้ไทที่มีลีลาแตกต่างจากฟ้อนผู้ไทในท้องถิ่นอื่น เนื่องจากฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครจะสวมเล็บ คล้ายฟ้อนเล็บทางภาคเหนือ ปลายเล็บจะมีพู่ไหมพรมสีแดง ใช้ผู้หญิงฟ้อนล้วนๆ

  • ท่าฟ้อนที่ชาวผู้ไทสกลนครประดิษฐ์ขึ้นนั้นมีเนื้อเพลงสลับกับทำนอง การฟ้อนจึงใช้ตีบทตามคำร้องและฟ้อนรับช่วงทำนองเพลง
  • ท่าฟ้อนมีดังนี้ ท่าดอกบัวตูม ท่าดอกบัวบาน ท่าแซงแซวลงหาด ท่าบังแสง ท่านางไอ่เลาะดอน หรือนางไอ่เลียบหาด ท่านาคีม้วนหาง
  • ดนตรีใช้กลองกิ่ง แคน กลองตุ้ม กลองแตะ กลองยาว ฆ้องโหม่ง พังฮาด ไม้กั๊บแก๊บ
  • เครื่องแต่งกาย จะใส่เสื้อสีดำ ผ้าถุงดำขลิบแดง สวมเล็บทำด้วยโลหะหรือบางแห่งใช้กระดาษทำเป็นเส้นมีพู่ตรงปลายสีแดง ห่มผ้าเบี่ยงสีแดง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้สีขาว บางครั้งผูกด้วยผ้าสีแดงแทน ในปัจจุบันพบว่า เสื้อผ้าชุดฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครได้เปลี่ยนไปบ้าง คือ ใช้เสื้อสีแดงขลิบสีดำ ผ้าถุงสีดำมีเชิง ผ้าเบี่ยงอาจใช้เชิงผ้าตีนซิ่นมาห่มแทน
  • เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน เพลงผู้ไท เพลงเต้ยโขง เพลงแมงตับเต่า เพลงบ้งไต่ขอน เพลงลำเพลินและเพลงลำยาว

ฟ้อนที

(ที่มาของภาพ : http://www.bloggang.com/data/banrakthai/picture/1221628817.jpg)

         คำว่า “ที” หมายถึง “ร่ม” เป็นคำภาษา “ไต” ใช้เรียกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน “ที” ทางภาคเหนือมีลักษณะและรูปทรงแตกต่างกันไปแต่ละจังหวัด “ที” ที่ชาวแม่ฮ่องสอนนิยมใช้มีรูปทรงสวยนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการรำได้ฟ้อนทีเป็นผลงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จัดแสดงในงานนิทรรศการและการแสดงศิลปวัฒนธรรมของสถานศึกษาในสังกัดกองศิลปศึกษา กรมศิลปากร เพื่อเทิดพระเกียติมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ การแสดงชุดนี้นำร่มมาใช้ประกอบลีลานาฎศิลป์โดยมีท่าฟ้อนเหนือของเชียงใหม่ผสมกับท่ารำไตของแม่ฮ่องสอน มีการแปรแถว และลีลาการใช้ร่มในลักษณะต่าง ๆ ที่งดงาม เช่น การถือร่ม การกางร่ม การหุบร่ม เป็นต้น

  • ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้ดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือประสมวง ได้แก่ สะล้อกลาง สะล้อเล็ก ซึ่งใหญ่ ซึงกลาง ซึงเล็ก ขลุ่ย กรับคู่ กลองพื้นเมือง
  • การแต่งกาย มุ่งเน้นความสวยงามของเครื่องแต่งกายตามประเพณีนิยมภาคเหนือ แบ่งเป็น ๒ แบบ คือ แบบหญิงไทลื้อ และแบบหญิงล้านนาแบบไทลื้อ นุ่งซิ่นลายขวาง เสื้อปั๊ด เกล้าผมสูงประดับดอกไม้เงิน ผ้าเคียนศีรษะประดับกำไลข้อมือ ต่างหูแบบล้านนา นุ่งซิ่นตีนจก ผ้าคาดเอว เสื้อเข้ารูปแขนยาว เกล้าผมมวยตั้งกระบังผมหน้าสูง ประดับดอกไม้เงิน เครื่องประดับมีเข็มขัด กำไลข้อมือ สร้อยคอ ต่างหู
  • การแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที

ฟ้อนแพน

(ที่มาของภาพ : http://www.bloggang.com/data/banrakthai/picture/1221628120.jpg)

         ฟ้อนแพนหรือลาวแพนซึ่งเป็นชื่อเพลงดนตรีไทยในจำพวกเพลงเดี่ยว ซึ่งนักดนตรีใช้เป็นเพลงสำหรับเดี่ยวอวดฝีมือในทางดุริยางคศิลป์เช่นเดียวกับเพลงเดี่ยวอื่นๆ แต่เดี่ยวลาวแพนนี้มีเครื่องดนตรีเหมาะสมแก่ทำนองจริง ๆ อยู่เพียง 2 อย่างคือจะเข้และปี่ในเท่านั้น ส่วนเครื่องดนตรีอื่นก็ทำได้น่าฟังเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีเสน่ห์เท่าจะเข้และปี่ใน เพลงนี้บางทีเรียกกันว่า “ลาวแคน”

         การประดิษฐ์ท่ารำที่พบหลักฐานนำมาใช้ในละคร เรื่อง พระลอ พระราชนิพนธ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตอนพระลอลงสรงในแม่น้ำกาหลง ท่ารำได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยอาศัยเค้าท่าฟ้อนของภาคเหนือและภาคอีสานเป็นแบบอย่าง และดัดแปลงให้เหมาะสมกลมกลืนกับทำนองเพลง การฟ้อนลาวแพนในละครเรื่องพระลอเป็นการฟ้อนเดี่ยว ต่อมาจึงมีผู้นำเอาไปใช้ในการฟ้อนหมู่ โดยเอาท่าฟ้อนเดี่ยวมาดัดแปลงเพิ่มเติมแก้ไขให้เหมาะสมกับการรำหลาย ๆ คน ปัจจุบันการฟ้อนลาวแพนมีทั้งการแสดงที่เป็นหญิงล้วนและชายหญิง บางโอกาสยังเพิ่มเติมแต่งบทร้องประกอบการแสดงได้อีกด้วย

ฟ้อนผาง

(ที่มาของภาพ : http://www.bloggang.com/data/banrakthai/picture/1221628021.jpg)

         เป็นศิลปะการฟ้อนที่มีมาแต่โบราณ เป็นการฟ้อนเพื่อบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ลีลาการฟ้อนดำเนินไปตามจังหวะของการตีกลองสะบัดชัย มือทั้งสองจะถือประทีปหรือผางผะตี้บ แต่เดิมใช้ผู้ชายแสดง ต่อมานายเจริญ จันทร์เพื่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ดำริให้คณะครูอาจารย์หมวดวิชานาฏศิลป์พื้นเมืองเป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำให้เหมาะสมกับผู้หญิงแสดง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายมานพ ยาระณะ ศิลปินพื้นบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดท่าฟ้อนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับท่ารำโดยมีนายปรีชา งามระเบียบอาจารย์ 2 ระดับ 7รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่(ฝ่ายกิจกรรม) เป็นผู้ควบคุมการประดิษฐ์ท่ารำ

  • การแต่งกายและทำนองเพลง
  • ลักษณะการแต่งกายแต่งแบบชาวไทยลื้อ สวมเสื้อป้ายทับข้าง เรียกว่า “เสื้อปั๊ด” หรือ “เสื้อปั๊ดข้าง” ขลิบริมด้วยผ้าหลากสีเป็นริ้ว นุ่งผ้าซิ่นเป็นริ้วลายขวาง ประดับด้วยแผ่นเงิน รัดเข็มขัดเงินเส้นใหญ่ ติดพู่แผงเงิน ใส่ต่างหูเงินและสวมกำไลข้อมือเงิน
  • สำหรับทำนองเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงชุดฟ้อนผางให้ชื่อว่า “เพลงฟ้อนผาง” แต่งโดยนายรักเกียรติ ปัญญายศ อาจารย์ 3 ระดับ 8 หมวดวิชาเครื่องสายไทย วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

ฟ้อนสาวไหม

(ที่มาของภาพ : http://www.bloggang.com/data/banrakthai/picture/1221627799.jpg)

         ฟ้อนสาวไหม เป็นการฟ้อนพื้นเมืองที่เลียนแบบมาจากการทอผ้าไหมของชาวบ้าน การฟ้อนสาวไหมเป็นการฟ้อนรำแบบเก่า เป็นท่าหนึ่งของฟ้อนเจิงซึ่งอยู่ในชุดเดียวกับการฟ้อนดาบ ลีลาการฟ้อนเป็นจังหวะที่คล่องแคล่วและรวดเร็ว (สะดุดเป็นช่วง ๆ เหมือนการทอผ้าด้วยกี่กระตุก)

         ประมาณปี พ.ศ. 2500 คุณบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ ได้คิดท่ารำขึ้นมาโดยอยู่ภายใต้การแนะนำของบิดา ท่ารำนี้ได้เน้นถึงการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องและนุ่มนวล ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะสมในการป้องกันไม่ให้เส้นไหมพันกัน

         ในปี พ.ศ. 2507 คุณพลอยศรี สรรพศรี ช่างฟ้อนเก่าในวังของเจ้าเชียงใหม่องค์สุดท้าย (เจ้าแก้วนวรัฐ) ได้ร่วมกับคุณบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ได้ขัดเกลาท่ารำขึ้นใหม่

         ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 คณะอาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ได้คิดท่ารำขึ้นมาเป็นแบบฉบับของวิทยาลัยเอง

  • ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อน จะใช้วงดนตรีพื้นเมืองซึ่งมีสะล้อ ซอ ซึง เพลงร้องมักไม่นิยมนำมาแสดง จะมีแต่เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ แต่เดิมที่บิดาของคุณบัวเรียวใช้นั้นเป็นเพลงปราสาทไหว ส่วนคุณบัวเรียวจะใช้เพลงลาวสมเด็จ เมื่อมีการถ่ายทอดมา คณะครูนาฎศิลป์จึงได้เลือกสรรโดยใช้เพลง “ซอปั่นฝ้าย” ซึ่งมีท่วงทำนองเป็นเพลงซอทำนองหนึ่งที่นิยมกันในจังหวัดน่าน และมีลีลาที่สอดคล้องกับท่ารำ การแต่งกาย แต่งกายแบบพื้นเมือง คือนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อแขนกระบอกห่มสไบทับ เกล้าผมมวยประดับดอกไม้

แหล่งอ้างอิง: 

  • http://www.oknation.net/blog/assada999/2009/11/24/entry-2
  • http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=banrakthai&group=9