วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระสุริโยทัย

สร้างโดย : นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
สร้างเมื่อ เสาร์, 09/07/2011 – 11:19

สมเด็จพระสุริโยทัย

พระราชประวัติ

            พระราชประวัติของสมเด็จพระสุริโยทัยยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ในขณะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาต่อจากขุนวรวงศาธิราชได้เพียง ๗ เดือน เมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้และพระมหาอุปราชาบุเรงนองยกกองทัพพม่า-รามัญเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยผ่านมาทางด้านด่านพระเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรีและตั้งค่ายล้อมพระนคร การศึกครั้งนั้นเป็นที่เลื่องลือถึงวีรกรรมของ สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ซึ่งไสช้างพระที่นั่งเข้าขวางพระเจ้าแปรด้วยเกรงว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชสวามี จะเป็นอันตราย จนถูกพระแสงของ้าวฟันพระอังสาขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง เพื่อปกป้องพระราชสวามีไว้ เมื่อสงครามยุติลง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงปลงพระศพของพระนางและสถาปนาสถานที่ปลงพระศพขึ้นเป็นวัด ขนาน – นามว่า “วัดสบสวรรค์” (หรือวัดสวนหลวงสบสวรรค์)

พระราชโอรสและพระราชธิดา
            สมเด็จพระสุริโยทัย มีพระราชโอรส-พระราชธิดา ๕ พระองค์ ซึ่งน่าจะเรียงลำดับดังนี้

๑. พระราเมศวร พระราชโอรสองค์โต เป็นพระมหาอุปราช ถูกจับเป็นองค์ประกันแก่พม่า และสิ้นพระชนม์ระหว่างไปหงสาวดี
๒. พระบรมดิลก พระราชธิดา เสียพระชนม์ชีพพร้อมพระมารดาในสงครามคราวเสียพระสุริโยทัย
๓. พระสวัสดิราช พระราชธิดา ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระวิสุทธิกษัตรีย์ อัครมเหสีในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและเป็นพระชนนีของพระสุพรรณกัลยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ
๔. พระมหินทร์ พระราชโอรสองค์รอง ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็น สมเด็จพระมหินทราธิราช กษัตริย์องค์สุดท้ายก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ใน ปี พ.ศ.๒๑๑๒
๕. พระเทพกษัตรี พระราชธิดา ภายหลังถูกส่งตัวถวายแด่พระไชยเชษฐาแห่งอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งระหว่างการเดินทางถึงชายแดนสยามประเทศพระนางถูกพระเจ้าบุเรงนองกษัตริย์แห่งพม่าทำการชิงตัวไปยังกรุงหงสาวดี สาเหตุที่พระเจ้าบุเรงนองชิงตัวไปก็เพราะพระเทพกษัตรีเป็นหน่อเนื้อของพระสุริโยทัย

            ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีการก่อสร้าง พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย ที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นพระอนุสาวรีย์ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย

อ้างอิง  พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ

อ่านเพิ่มเติม...

วีรกษัตรีย์แห่งกรุงศรีอยุธยา

           ครั้งรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๓๔ ถึงพ.ศ. ๒๐๗๒ เป็นสมัยที่ราชอาณาจักรอโยธยามีเจ้าเหนือหัวครองราชย์ ถึง ๒ พระองค์ หนึ่งนั้นคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ ราชธานีฝ่ายใต้ อันได้แก่ กรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร ส่วนอีกหนึ่งนั้นเป็นพระอนุชาในสมเด็จพระรามาธิบดี ทรงพระนามว่า พระอาทิตยา ครองราชย์อยู่ยังเมืองพิษณุโลกอันเป็นราชธานีฝ่ายเหนือ พระสุริโยไท ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือแห่งราชวงศ์พระร่วง ได้อภิเษกสมรสกับพระเยาวราช จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ คือพระเฑียรราชา โอรสขององค์อุปราชพระอาทิตยาวงศ์ กับพระสนม

           เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๐๗๒ พระอาทิตยาวงศ์ ได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร เชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์เสด็จย้ายจากพิษณุโลกไปประทับ ณ กรุงศรีอยุธยาเมืองหลวง รวมถึงพระเฑียรราชา และพระสุริโยไทซึ่งมีพระโอรส พระธิดาทั้งสิ้น ๕ พระองค์ ประทับอยู่ ณ วังชัย ดำรงอิสริยยศเป็นพระเยาวราช

            ครั้นสมเด็จพระบรมราชาหน่อ พุทธางกูร สิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้ทรพิษ พระรัฏฐาธิราชกุมารพระโอรส วัย ๕ พรรษา อันประสูติจากพระอัครชายาวัย ๑๗ พรรษา เป็นผู้ขึ้นครองราชย์แทนพระไชยราชาผู้ซึ่งดำรงพระยศเป็นพระอุปราช ระหว่างนั้นบ้านเมืองถูกบริหารโดยขุนนางทุจริตคือพระยายมราชบิดาของอัครชายา พระไชยราชาจึงให้สำเร็จโทษพระรัฏฐาธิราชตามราชประเพณีโบราณ และขึ้นครองราชย์แทน ออกรบปราบปรามหัวเมืองอยู่ตลอดจึงทรงแต่งตั้งพระเฑียรราชาขึ้น เป็นพระอุปราชว่าราชการแทนพระองค์ที่กรุงอโยธยา

            ต่อมาพระมเหสีของพระไชยราชา คือท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ลักลอบมีความสัมพันธ์กับขุนชินราช ผู้ดูแลหอพระ สมคบลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระไชยราชา พระยอดฟ้า โอรสพระไชยราชา จึงได้ขึ้นครองราชย์แทนขณะที่มีพระชนม์ ๑๐ พรรษา แต่ต่อมาก็ถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ปลงพระชนม์อีกองค์หนึ่ง แล้วสถาปนา ขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า ขุนวรวงศา

            ระหว่างนั้นพระเฑียรราชาได้ทรงผนวชเพื่อเลี่ยงภัย ส่วนพระสุริโยไทครองพระองค์อยู่ในวัง โดยมีขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเส่หานอกราชการ หลวงศรียศ คุ้มกันภัยให้ และต่อมาก็ได้ร่วมกันปลงพระชนม์ ขุนวรวงศา และท้าวศรีสุดาจันทร์ เสียบหัวประจานไว้ที่วัดแร้ง อัญเชิญพระเฑียรราชาให้ลาสิกขาบทขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่าพระมหาจักรพรรดิ ครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๑

             ในปี ๒๐๙๑ นี่เอง ที่ทางพม่านำโดยกษัตริย์นามว่า พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ได้รวบรวมกำลังแผ่ขยายอำนาจรุกรานไทย เดินทัพมายังอยุธยา เกิดเป็นสงครามยุทธหัตถี เหตุการณ์ตรงนี้เองที่ได้กล่าวถึงพระสุริโยไทว่าทรงปลอมพระองค์เป็นชายเข้าสู้รบกับพม่าจนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง และตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็สันนิษฐานกันว่า ในสงครามครานั้นพระองค์มิได้สิ้นพระชนม์เพียงพระองค์เดียว หากแต่มีพระราชบุตรีอีกพระองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์ในครั้งนั้นด้วย !!!

              จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ แต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๓ ได้กล่าวถึงศึกระหว่างพระมหาจักรพรรดิกับ พระเจ้าหงสาวดี และการสูญเสียพระสุริโยไท ไว้ว่า “เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเจ้า เสด็จออกไปรับศึกหงสานั้น สมเด็จพระองค์มเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรี เสด็จทรงช้างออกไปโดยเสด็จด้วย และเมื่อได้รับศึกหงสานั้น ทัพหน้าแตกมาปะทัพหลวงเป็นโกลาหลใหญ่ และสมเด็จพระองค์มเหสีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราชบุตรีนั้น ได้รบด้วยข้าศึกถึงสิ้นชนม์กับคอช้างนั้น”

              พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ได้บรรยายการต่อสู้ครั้งนั้นไว้โดยพิสดารว่า “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ขับพระคชาธารเข้าชนช้างกองหน้าพระเจ้าหงสาวดี พระคชาธารเสียทีให้หลังข้าศึกเอาไว้ไม่อยู่ พระเจ้าแปรได้ท้ายข้าศึกเช่นนั้นก็ขับพระคชาธารตามไล่ช้างพระมหาจักรพรรดิ พระสุริโยไทเห็นพระราชสามีเสียทีไม่พ้นมือข้าศึก ทรงพระกตัญญูภาพ ก็ขับพระคชาธารพลายทรงสุริยกษัตริย์สะอึกออกรับพระคชาธารพระเจ้าแปรได้ล่างแบกถนัด พระคชาธารพระสุริโยไทแหงนหงายเสียทีพระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวต้องพระอังสะพระสุริโยไทขาดกระทั่งถึงราวพระถันประเทศ พระราเมศวร กับพระมหินทราธิราช ก็ขับพระคชาธารถลันเข้าแก้พระราชมารดาได้ทันที พอพระชนนีสิ้นพระชนม์กับคอช้าง พระพี่น้องทั้งสองพระองค์ถอยรอรับข้าศึก กันพระศพสมเด็จพระราชมารดาเข้าพระนครได้ โยธาชาวพระนครแตกพ่ายข้าศึกรี้พลตายเป็นอันมาก

            สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าจึงให้เชิญพระศพพระสุริโยไท ผู้เป็นพระอัครมเหสีมาไว้สวนหลวง” พระศพสมเด็จพระสุริโยไทได้รับการเชิญไปประดิษฐานไว้ที่สวนหลวงตรงที่สร้างวังหลัง ต่อมาเมื่อเสร็จสงครามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงได้ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสุริโยไทที่ในสวนหลวงตรงต่อเขตวัดสบสวรรค์ แล้วสร้างพระอารามขึ้นทรงพระเมรุ มีพระเจดีย์ใหญ่ เรียกว่าวัดสวนหลวงสบสวรรค์ หรือบางแห่งเรียก วัดศพสวรรค์

            เรื่องต่อจากนั้นก็มีว่า ทัพพม่าไม่สามารถจะตีหักเอากรุงศรีอยุธยาได้เพราะฝ่ายไทยได้เปรียบในที่มั่น และหัวเมืองฝ่ายไทยยังมีกำลังมาก โดยเฉพาะทัพของพระมหาธรรมราชาซึ่งเสด็จไปครองพิษณุโลก ได้ยกมาช่วยตีกระหนาบ พระเจ้าหงสาวดีจึงโปรดให้เลิกทัพกลับไปทางเหนือ แต่จากเอกสารพม่าที่จดจากปากคำให้การเชลยไทยคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ในชื่อว่า คำ ให้การชาวกรุงเก่าบันทึกความทรงจำหลังเหตุการณ์ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ เล่าว่าศึกครั้งนี้ พระมหาจักรพรรดิได้รับคำท้าทายที่จะประลองยุทธหัตถีกับกษัตริย์พม่า แต่เมื่อถึงวันนัด หมายกลับประชวร พระบรมดิลกพระราชธิดาพระองค์หนึ่งจึงรับอาสาฉลองพระองค์ปลอม เป็นชายขึ้นช้างทำยุทธหัตถีเสียทีถูกพระแสงของ้าวกษัตริย์พม่าสิ้นพระชนม์ นับเป็นหลักฐานแห่งการบันทึกประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว พระนามของพระนางที่ปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่าง ๆ ซึ่งบันทึกหลังเหตุการณ์ประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ กล่าวถึงเรื่องราวในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชสมบัติโดยมีพระนางอยู่ในตำแหน่งมเหสี พระราชพงศาวดารมากล่าวพระนามอีกครั้งเมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ยกทัพล้อมกรุงศรีอยุธยาหลังการเสวยราชสมบัติได้ ๗ เดือน โดยครั้งนั้นพระนางได้ป้องกันพระราชสวามีไม่ให้ได้รับอันตรายโดยไสช้างขวางกั้นพระราชสวามีจากแม่ทัพพม่า จนสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

            นอกจากนี้ยังมีการบันทึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยว่าสมเด็จพระสุริโยไททรงแต่งพระองค์เป็นชายอย่างพระมหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชณรงค์ เสด็จทรงช้าง “พลายทรงสุริยกษัตริย์” สูงหกศอกเป็นพระคชาธาร ซึ่งวิเคราะห์แล้วถือเป็นช้างที่สูงมากในขบวนช้างแม่ทัพฝ่ายไทย เพราะช้างทรงของพระมหาจักรพรรดิคือ พลายแก้วจักรพรรดิ สูงหกศอกคืบห้านิ้ว ช้างทรงพระราเมศวร คือพลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบสิบนิ้ว และช้างทรงพระมหินทราธิราช คือพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ส่วนช้างของพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ คือช้างต้นพลายมงคลทวีปนั้นสูงถึงเจ็ดศอก และช้างของพระเจ้าแปรผู้ประหารพระนาง คือพลายเทวนาคพินายสูงหกศอกคืบเจ็ดนิ้ว สูงกว่าช้างทรงพระสุริโยไทคืบเจ็ดนิ้วเต็ม ร่องรอยแห่งอดีตกาลสั่งสมผ่านบันทึกประวัติศาสตร์ แม้นไม่อาจสัมผัสได้ด้วยสายตา แต่วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของวีรสตรีผู้ทรงนาม “พระสุริโยไท” จะยังคงประจักษ์อยู่ในหัวใจ อนุชนรุ่นหลังมิรู้ลืมเลือน….

ศึกษาข้อมูล รายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.thaigoodview.com/node/103119

แหล่งอ้างอิง:   http://academicdev.aru.ac.th/content/view/45/10/

ย่อ