อุบลราชธานี (Ubon Ratchathani) Ep.02 : เสาเฉลียงยักษ์ Giant Rock Pillar

สร้างโดย : นายพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
สร้างเมื่อ : 06 ธันวาคม 2565

อุบลราชธานี (Ubon Ratchathani) Ep.02

เสาเฉลียงยักษ์ Giant Rock Pillar

       นอกจากภาพเขียนสีโบราณก่อนประวัติศาสตร์แล้ว “อุทยานแห่งชาติผาแต้ม” จ.อุบลราชธานี ยังมี “เสาเฉลียง”เป็นอีกหนึ่งในสัญลักษณ์อันโดดเด่น “เสาเฉลียง” เป็นชื่อที่แผลงมาจากคำว่า “สะเลียง” ในภาษาส่วย หมายถึง “เสาหินที่มีลักษณะแปลกตา” ที่แม้จะพบมากมายในพื้นที่ผาแต้ม แต่ไฮไลท์สำคัญนั้นมี 3 เสาเฉลียงด้วยกัน คือ

       “เสาเฉลียงเล็ก” ตั้งอยู่บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีความสูงประมาณ 5 เมตร เป็นกลุ่มหินที่มี 3 เสา บนยอดมีหินแบนวางทับดูคล้ายดอกเห็ด

       “เสาเฉลียงคู่” ตั้งอยู่ในป่าดงนาทาม มีลักษณะเป็นเสาหิน 2 เสา ฐานกว้างด้านบนคอดมีแผ่นหินวางอยู่ข้างบนอย่างหวาดเสียว คล้ายดังจะตกไม่ตกแหล่(แต่ก็ไม่เคยตกสักที) เสาเฉลียงคู่ถือเป็นหนึ่งในจุดชมพระอาทิตย์ตกชั้นดีของเมืองไทย เพราะยามอาทิตย์อัสดงจะเกิดภาพเงามืด(ซิลูเอท)เห็นเค้าโครงอันสวยงามแปลกตาของเสาเฉลียงคู่ ตัดกับสีสันของท้องฟ้ายามโพล้เพล้ได้เป็นอย่างดี

       “เสาเฉลียงยักษ์” ยักษ์ใหญ่แห่งโลกล้านปี ประติมากรรมสุดอลังการจากธรรมชาติและกาลเวลา อายุราว 100 กว่าล้านปี แห่งบ้านผาชัน ในเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้ม มีรูปร่างคล้ายกับดอกเห็ด นับเป็นเสาเฉลียงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีทำเลที่ตั้งอยู่ที่ “บ้านผาชัน” อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี หมู่บ้านผาชันนอกจากจะมีเสาเฉลียงใหญ่แล้วยังมีท้ายบ้านผาชันอยู่ติดกับแม่น้ำโขงชายแดนไทย-ลาว พื้นที่ความยาวกว่า 5 กม.เป็นหน้าผาสูงชันกว่า 50-60 เมตรเป็นธรรมชาติเพิงผาริมโขงอันแปลกตา และวิถีชีวิตริมฝั่งโขงที่น่าสนใจยิ่ง

       หากกล่าวตามความเชื่อของชุมชนแล้ว ถือว่าเสาเฉลียงนั้นเป็นที่อยู่ของเหล่าวิญญาณของเจ้าเมือง และทหารกล้า ซึ่งเสียชีวิตจากการไปสู้รบในต่างแดน เชื่อกันว่าวิญญาณนั้น จะเป็นผึ้งมารวมกันอยู่บริเวณเสาหิน ทุกๆ วันพระ จะมีเจ้ากวน (ผู้ทรงเจ้า) จากหมู่บ้านไปบูชาทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

       เสาเฉลียงยักษ์เกิดจากการกัดกร่อนของแดด ลม ฝน เป็นเวลานับหมื่นนับแสนปี เกิดเป็นเสาหินยักษ์ขนาดหลายสิบคนโอบตั้งเคียงคู่ชิดติดกัน สูงประมาณตึก 3-4 ชั้น มีแผ่นหินขนาดใหญ่ดูน่าเกรงขามตั้งวางอยู่ข้างบน แบบไม่ต้องเสียวว่าจะหล่นลงมาเหมือนกับเสาเฉลียงคู่ที่ป่าดงนาทาม

       ถัดจากเสาเฉลียงใหญ่ไปยังบริเวณลานหินกว้างที่อยู่ไม่ไกลกัน เป็นที่ตั้งของ“ถ้ำโลง” ที่มีลักษณะเป็นเพิงผาหิน มีโลง(ศพ)อายุกว่า 2 พันปีก่อนประวัติศาสตร์วางทอดยาวใต้เพิงผา

       โลงศพนี้ทำจากไม้พยอมท่อนเดียว มีความยาวกว่า 8 ศอก ใช้บรรจุศพคนโบราณ(คน 8 ศอก)เพื่อนำศพไปเผาก่อนนำโลงกลับมาใช้งานต่อ ด้านหัวโลงทำเป็นแผ่นโค้งคล้ายเขาควายเพื่อใช้ในการจับยก ทำให้ชาวบ้านบางคนเรียกว่า“โลงเขาควาย” ด้านหน้าโลงมีบาตร ธูป เทียน มาลัย และเครื่องเซ่นสรวงที่ผู้ศรัทธามาบูชาไว้ รวมถึงรอยแป้งขาวโพลนที่มีคนจากภายนอกมาโรยไว้เพื่อขูดขอหวย(ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่าเป็นโลงศักดิ์สิทธิ์จึงไม่กล้ายุ่งกับโลง) แสดงให้เห็นถึงวิถีความเชื่อแบบไทยๆของคนส่วนหนึ่ง ที่อดีตยังเป็นยังไงปัจจุบันก็ยังเป็นยังงั้นอยู่ ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นที่ชาวบ้านผาชันจะต้องช่วยกันดูแลให้ดี เพราะฝีมือโรยแป้งกับฝีมือการขูดหาเลข อาจทำให้โลงศพที่ถือเป็นโบราณวัตถุชิ้นนี้ชำรุดเสียหายได้

       นอกจากเสาเฉลียงใหญ่แล้ว ที่ริมฝั่งโขงบ้านผาชันยังมี “สามหมื่นรู”(30,000 รู) เป็นอีกสิ่งไม่ควรพลาด ให้เราๆท่านๆล่องเรือไปยลโฉมเจ้ารูจำนวนมากกัน

       สามหมื่นรู เกิดจากการที่กรวด-หิน ถูกกระแสน้ำไหลพัดพามาทำปฏิกิริยากับหน้าผาเป็นเวลายาวนานนับร้อยนับพันปี จนกลายเป็นร่องเป็นรูพรุนขึ้นจำนวนมากมายมหาศาลไปทั่วบริเวณ ทั้งเหนือน้ำและใต้น้ำ(เกินกว่า 30,000 รูตามชื่อที่ชาวบ้านตั้งมากนัก) ยิ่งน้ำลดมากยิ่งเห็นรูมากนับเป็นความมหัศจรรย์เล็กๆริมฝั่งโขงที่น่าชมเป็นอย่างยิ่ง

การเดินทาง : เส้นทางเป็นทางคอนกรีตรถยนต์เข้าได้ ขับขี่ได้สะดวก จะมีช่วงเป็นถนนลูกรังประมาณ 100 เมตรก่อนถึงลานจอดชมเสาเฉลียง และเดินเท้าต่อเข้าไปอีกประมาณ 100 เมตร

ภาพโดย : www.thaigoodview.com